สูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบ เมื่อการหนาที่ผิดปกติของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอมากเกินกว่า 50% อาจก่อให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
นพ.ภัทรวุฒิ เรืองวานิช อายุรแพทย์เฉพาะทางประสาทวิทยา อนุสาขาประสาทวิทยาโรคหลอดเลือดสมองและการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า การที่หลอดเลือดแดงที่คอตีบ มีผลมาจากไขมัน หรือคราบหินปูนเกาะ ทำให้การไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ นำไปสู่การเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งพบได้บ่อยในเพศชายและผู้สูงอายุ แต่ผู้ที่มีอายุยังน้อยร่วมกับมีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง โรคความดันโรคหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งสัญญาณเตือนของภาวะหลอดเลือดที่คอตีบ อาจไม่มีสัญญาณเตือนอะไรให้เห็นเลย แต่หากเกิดอาการ BEFAST (เดินเซ ภาพซ้อน หน้าเบี้ยว แขน–ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด) ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อทำการหาสาเหตุและการตรวจหลอดเลือดสมองที่บริเวณคอ ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasonography : CDUS) รวมถึงวางแผนการรักษาที่ตรงจุด
ผู้ที่ควรได้รับการตรวจหลอดเลือดใหญ่บริเวณคอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Carotid Duplex Ultrasonography
• ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เพื่อดูรอยโรคของหลอดเลือดแดงบริเวณคอและติดตามผลเป็นระยะ
• ผู้ป่วยที่เคยมีอาการสมองขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราว (TIA)
• ผู้ป่วยที่มีภาวะผิดปกติที่หลอดเลือดแดงบริเวณคอ ทั้งรายที่มีอาการและไม่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีการขาดเลือดเฉพาะที่
• ผู้ที่ต้องผ่าตัดใหญ่โรคหลอดเลือดอื่นๆ เช่น ผ่าตัดตัดต่อหลอดเลือดแดงหัวใจในรายที่มีหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตัน เพื่อตรวจประเมินค่าก่อนนำผู้ป่วยไปผ่าตัด
• ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน
การป้องกันภาวะหลอดเลือดที่คอตีบ สามารถทำได้โดย..
• ควบคุมไขมันในเลือด โรคเบาหวาน ความดันสูง ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
• ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เป็นโรคอ้วน
• งดสูบบุหรี่
• หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ภาวะหลอดเลือดที่คอตีบจะสามารถรักษาได้โดยการใช้ยา การผ่าตัดที่เส้นเลือดบริเวณเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอเพื่อเลาะผนังที่หนาผิดปกติ หรือการใส่ขดเลือดเพื่อช่วยในการขยายของเส้นเลือด และหากเกิดอาการของอัมพฤกษ์ ต้องทำการกายภาพบำบัดร่วมด้วย ทั้งนี้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง