บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นับเป็นอีกหนึ่งเมนูยอดฮิตที่ช่วยประทังชีวิตของคนไทยจำนวนไม่น้อย เพราะราคาพอจับต้องได้และหาซื้อได้ง่าย แถมการปรุงก็ไม่ยาก เพียงมีน้ำเดือด แกะซองเติมเครื่องปรุง ก็ช่วยบรรเทาความหิวได้แล้ว
อย่างไรก็ดี หากกินในปริมาณที่ไม่มาก และไม่บ่อยเกินไป ก็ไม่น่ากังวลนัก แต่ถ้ากินมากเกินไป ไม่ดีต่อสุขภาพแน่
อันดับแรกสุด ก็คือ อันตรายจากโซเดียม ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ควรรับประทานไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา แต่ทว่าในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่ที่เป็นขนาดห่อละ 60 กรัม ถ้ากินหมดห่อจะได้รับโซเดียมสูงถึง 1,400 – 2,600 มิลลิกรัม และถ้าเป็นห่อขนาดใหญ่ขึ้นไปกว่า 60 กรัม ก็จะยิ่งทำให้ได้รับโซเดียมเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมอนามัย ระบุว่า การที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมากเกินไป จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เพราะเมื่อร่างกายไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกาย จะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่าง ๆ ทำให้แขน ขา บวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก และหากร่างกายไม่สามารถขับโซเดียมออกได้ทัน จะเกิดการสะสมในร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้เกิดหัวใจโตและหัวใจวายได้
อย่างไรก็ดี ผลพวงของการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากเกินไป ยังมีอีกหลายข้อ เช่น ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และอีกอย่างหนึ่งซึ่งคิดว่าหลายคนคงไม่ชอบแน่ ๆ คือ มันทำให้ “น้ำหนักขึ้น” ซึ่งจากข้อมูลในเว็บไซต์ POBPAD บ่งชี้ว่า ถึงแม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ แต่เส้นบะหมี่ก็มีส่วนประกอบของแป้งข้าวสาลี น้ำมันปาล์มที่เป็นไขมันอิ่มตัว และน้ำมันปรุงรส การบริโภคอาหารชนิดนี้อาจให้พลังงานมากกว่าข้าวสวยในปริมาณเดียวกัน จึงอาจส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ่อย ๆ อาจเพิ่มระดับของไขมันในเลือดจนส่งผลให้เกิดภาวะไม่ทนทานต่อน้ำตาลกลูโคส (Glucose Intolerence) โดยเฉพาะผู้ที่บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน หรือโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) โรคเบาหวาน เป็นต้น
ดังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่า การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากเกินไปและบ่อยเกินไป นำพาความเสี่ยงในการเป็นโรคอันไม่พึงประสงค์มาสู่ร่างกายในระยะยาวได้ แต่ถึงอย่างนั้น หากรับประทานอย่างเหมาะสม ก็พอจะลดช่วยความเสี่ยงดังกล่าวลงได้บ้าง โดยเคล็ดลับที่ได้รับการแนะนำในการรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีดังต่อไปนี้
1. อ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์เสมอ เพราะฉลากจะบอกถึงปริมาณของสารอาหารที่ได้รับจากการรับประทานอาหารชนิดนั้น โดยให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ ไขมันต่ำ พร้อมทั้งดูปริมาณสารอาหารชนิดอื่นที่จำเป็นต่อร่างกายประกอบด้วย
2. ไม่รับประทานบ่อยจนเกินไป หากต้องการรับประทาน ควรคำนวณปริมาณโซเดียมของมื้ออื่นให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน
3. เพิ่มวัตถุดิบอื่น ๆ ลงในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหาร อย่างเนื้อสัตว์ลอกหนังหรือไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ ผัก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเติมอาหารสำเร็จรูป อย่างไส้กรอก แฮม หรือเนื้อสัตว์แปรรูปชนิดอื่น ๆ เพราะเนื้อสัตว์แปรรูปมักมีปริมาณโซเดียมสูงไม่ต่างจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
4. หลีกเลี่ยงการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบดิบ เลี่ยงการเติมผงปรุงรสหมดซอง รวมทั้งหลีกเลี่ยงกินน้ำซุปจนหมด หรือใส่ผงปรุงรสให้น้อยลง หรือจะเทน้ำที่ต้มเส้นทิ้งไปบ้างบางส่วนก็ได้ก่อนใส่เครื่องปรุง เพื่อจำกัดการได้รับโซเดียมที่มากเกินไป
...................
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.pobpad.com/
https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/010265/