เชื่อว่าหลายคนคงเคยเป็นหรือกำลังเป็น “ร้อนใน” อยู่ในเวลานี้ ซึ่งแม้จะดูเหมือนไม่รุนแรงมาก แต่ก็รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันไม่ใช่น้อย แถมกินอะไรก็ไม่อร่อยเพราะ “ร้อนใน”
จากข้อมูลที่เขียนโดย อ. พญ.โยษิตา หมื่นแก้ว ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาการ “ร้อนใน” เป็นแผลที่เกิดขึ้นตามจุดต่าง ๆ ในช่องปาก เช่น ริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม หรือลิ้น จะมีขนาดเล็กตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรถึงขนาดใหญ่เกิน 1 เซนติเมตร โดยรูปร่างอาจเป็นรูปวงกลมหรือวงรี มีสีขาวออกสีเหลือง รอบรอยแผลจะแดง เมื่อสัมผัสโดนแผลทำให้เกิดอาการเจ็บและระคายเคืองในปาก เช่น เวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ
แม้ว่าในปัจจุบัน ทางการแพทย์อาจจะยังหาสาเหตุไม่ได้แน่ชัดว่าอาการร้อนในเกิดจากอะไรจริง ๆ แต่ก็มีเหตุปัจจัยหลายประการที่ไปกระตุ้นให้เกิดร้อนในขึ้นได้ เช่น
- ขาดวิตามินบี 12 และธาตุเหล็ก
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ทานของมัน ของทอดมากไป
- เครียดสะสม
- นอนดึก อดนอนเป็นประจำ
- เผลอกัดริมฝีปากขณะเคี้ยวอาหาร
- แพ้สารบางชนิดในยาสีฟัน
- การสูบบุหรี่
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ประกอบอีก เช่น พันธุกรรม , เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย , การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะผู้หญิงช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือระหว่างมีประจำเดือน , แพ้อาหารบางชนิด , จัดฟันหรือมีอุปกรณ์ทันตกรรมในช่องปาก , โรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคโครห์น โรคเบเช็ท เอชไอวี
อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้น แพทย์ได้แนะนำวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเป็นร้อนใน ซึ่งมีดังต่อไปนี้
– รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ งดอาหารของทอด ของมัน ขนม น้ำตาล ทุเรียน ลำไย
– หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น กระเทียม หอม ขิง
– รับประทานผักและผลไม้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน
– ดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
– พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึกหรืออดนอน
– หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงต้านทานโรคได้
– หลีกเลี่ยงความเครียด
– ดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เช่น แปรงฟันหลังรับประทานอาหาร
..........................
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ Rama Channel คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเว็บไซต์ โรงพยาบาลศิครินทร์