xs
xsm
sm
md
lg

ประโยชน์ดี ๆ ของ “เตย” ที่มีดีมากกว่ากลิ่นหอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เตย” โดยเฉพาะส่วนใบ นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น ขนมหวาน เครื่องดื่ม ฯลฯ  ซึ่งนอกจากสีสันที่สวยงามและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว เตยยังมีประโยชน์กับร่างกายอีกด้วย

“เตย” คืออะไร

สำหรับ “เตย” นั้น มีชื่อเรียกหลายชื่อ ทั้ง เตยหอม ต้นเตย ใบเตย เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นทรงกลม เป็นข้อสั้น ๆ ถี่ ๆ โผล่ขึ้นมาจากดินเพียงเล็กน้อย โคนลำต้นแตกรากแขนงออกเป็นรากค้ำจุนหรือเรียกว่ารากอากาศ ลำต้นสามารถแตกหน่อเป็นต้นใหม่ได้

ส่วนใบของเตยนั้น เป็นใบเดี่ยวด้านข้างรอบลำต้น เรียงสลับวนเป็นเกลียวขึ้นตามความสูงของลำต้น ใบเรียวยาวเป็นรูปดาบ ปลายแหลม สีเขียวสด แผ่นใบเป็นมัน ขอบใบเรียบ มีเส้นกลางใบลึก มีกลิ่นหอม

สรรพคุณ ประโยชน์

-ใบ

นำมาใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เพราะใบเตยมีฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ จึงช่วยบำรุงหัวใจได้อย่างดี วิธีรับประทานคือ ใช้ใบสดผสมในอาหาร แล้วรับประทาน

หรือนำใบสดมาคั้นน้ำรับประทาน ครั้งละ 2-4 ช้อนแกง ช่วยดับกระหาย เนื่องจากใบเตยมีกลิ่นหอมเย็น หากนำมาผสมน้ำรับประทาน จะช่วยดับกระหาย คลายร้อน ดื่มแล้วรู้สึกชื่นใจ และชุ่มคอได้เป็นอย่างดี วิธีรับประทานคือ นำใบเตยสดมาล้างให้สะอาด นำมาตำหรือปั่นให้ละเอียด แล้วเติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาแต่น้ำดื่ม 

รักษาโรคหัด หรือ โรคผิวหนัง โดยนำใบเตยมาตำแล้วมาพอกบนผิว

-รากและลำต้น

ส่วนรากและลำต้นนั้น ก็นำใช้รักษาโรคเบาหวาน เพราะรากและลำต้นของเตยหอมนั้น มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด วิธีรับประทานก็คือ ใช้ราก 1 กำมือนำไปต้มเป็นน้ำดื่ม ทุกเช้า-เย็น ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยการนำต้นเตยหอม 1 ต้น หรือราก ครึ่งกำมือ ไปต้มกับน้ำดื่ม

นอกจากนี้ ใบเตย ยังช่วยแก้อ่อนเพลีย ดับพิษไข้ และชูกำลังได้อีกด้วย

คำแนะนำในการรับประทาน

ใบเตย อาจมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ และส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วงได้หากรับประทานในปริมาณมาก และถึงแม้ใบเตยจะมีสารประกอบมากมายที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่หากนำมาประกอบอาหาร ขนมหวาน หรือเครื่องดื่ม แล้วเติมเครื่องปรุงรส เช่น น้ำตาล น้ำปลา ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หากรับประทานมากเกินไป เช่น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนนำไปสู่โรคเบาหวาน หรือโซเดียมอาจทำให้ไตทำงานหนักจนไตเสื่อม มีอาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูงขึ้น เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : สำนักงานพิพัธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน), โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช, โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์, medthai.com และ hellokhunmor.com


กำลังโหลดความคิดเห็น