xs
xsm
sm
md
lg

ปวดหัวแบบไหนเรียกไมเกรน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวลาปวดหัว คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นไมเกรน ซึ่งความจริงแล้วอาจเป็นแค่อาการปวดตึงจากกล้ามเนื้อ แล้วอาการแบบไหนที่เรียกว่าไมเกรน คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) จะมาให้ข้อมูลเรื่องนี้กันค่ะ

อาการปวดไมเกรน จะมีลักษณะของอาการปวดที่รุนแรงมาก ถึงมากจนทนไม่ไหว ปวดแบบไม่สามารถทำกิจกรรมใด ๆ ต่อได้เลย ส่วนมากจะปวดแบบตุบ ๆ เพียงด้านใดด้านหนึ่งของศีรษะ นอนพักอาการก็ไม่ดีขึ้น ฯลฯ ไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร
ในทางการแพทย์ไม่พบสาเหตุที่แน่นอนที่ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรน แต่จะพบว่าตัวรับรู้ในผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงศีรษะจะไวต่อความรู้สึกมากกว่าปกติ และมีผลมาจากปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายใน เช่น ความเครียด การนอนพักผ่อนไม่พอ ฯลฯ ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน อากาศร้อนหรือแปรปรวน การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนผสม การรับประทานอาหารที่มีสารให้ความหวาน อาหารที่เป็นของหมักดอง ฯลฯ ก็มีส่วนทำให้เกิดไมเกรนได้

คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี)
สำหรับอาการปวดตึงจากกล้ามเนื้อเกร็งเรื้อรัง มีความต่างจากไมเกรนชัดเจน อาการปวดตึงจะปวดแน่น ๆ หนัก ๆ ทั้งศีรษะมักร่วมกับอาการปวดท้ายทอย คอ บ่า ร้าวเข้ากระบอกตา ร้าวขึ้นศีรษะ ร้าวลงสะบัก และมักร่วมกับการเคลื่อนไหวคอไม่คล่อง บ่าและก้านคอจะหนัก ๆ ตึง ๆ อาการจะเป็นมากเมื่อต้องใช้กล้ามเนื้อหนัก เช่น ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่อง หิ้วของหนัก นั่งนานโดยไม่ได้เปลี่ยนท่าทาง อาการจะเบาขึ้นเมื่อนอนพัก อาการปวดตึงส่วนใหญ่จะทำงานหรือกิจกรรมต่อได้ มักเป็นมากช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ เพราะใช้กล้ามเนื้อมาทั้งวัน

ลักษณะของอาการปวดตึง ส่วนใหญ่มาจากโครงสร้างร่างกายไม่สมดุล พฤติกรรมการใช้ร่างกายที่ผิด เช่น นั่งหลังค่อม คอยื่น ไหล่งุ้มมาก โครงสร้างดังกล่าว จะส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็งตึงเรื้อรัง การปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อปรับโครงสร้างร่างกายให้สมดุล สร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายก็จะช่วยลดอาการปวดได้

การปวดไมเกรนกับอาการปวดตึงจากกล้ามเนื้อมีความเชื่อมโยงกันจะเห็นได้จาก เมื่อเป็นไมเกรนเรื้อรังมักส่งผลให้กล้ามเนื้อคอบ่า ไหล่ ตึงไปด้วย นานๆ เข้า ส่งผลให้ความรุนแรงของไมเกรนรุนแรงมากขึ้น การคลายกล้ามเนื้อ บริเวณท้ายทอย บ่า และสะบัก จะทำให้ความถี่ และความรุนแรงของการเป็นไมเกรนลดลงได้


การรักษาไมเกรน ส่วนใหญ่จะใช้ยาในการรักษา แต่ก็เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ที่สำคัญคือการดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายแบบได้เหงื่อให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยกระตุ้น งดอาหารที่เป็นปัจจัยกระตุ้น หากรู้สึกมีการเกร็งคอ บ่า ไหล่ ควรรักษาหรือคลายกล้ามเนื้อ ปรับท่าทางหรือโครงสร้างร่างกายให้สมดุล เพื่อลดความรุนแรงและความถี่ที่เป็น เป็นต้น การเป็นไมเกรนมักไม่หายขาด แต่จะพบว่าเมื่อดูแลตัวเองถูกต้องมักทำให้ความถี่ในการเป็นลดลงมาก บางเคสอาจเป็นเพียงปีละ 2-3 ครั้ง จนไม่จำเป็นต้องทานยาแล้ว

สำหรับอากาศที่ร้อนจัด และแปรปรวนอย่างนี้ เป็นตัวกระตุ้นและส่งผลกระทบโดยตรงกับคนที่เป็นไมเกรน ควรหลีกเลี่ยงและเตรียมความพร้อมรับมือกับหน้าร้อนกันด้วยนะคะ..


กำลังโหลดความคิดเห็น