แม้ว่า “โรคไข้อีดำอีแดง” นั้น มักพบได้บ่อยเหมือนโรคทั่วไปก็ตามที แต่ทราบหรือไม่ โรคนี้มีความอันตรายต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะช่วงวัยเด็ก ถึงขั้นที่ว่าหากมีการติดต่อกันแล้ว ก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาได้
“ไข้อีดำอีแดง” คืออะไร
โรคไข้อีดำอีแดงเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ (Streptococcus group A) ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่น ที่อยู่ในคอหอยทำให้เกิดการติดเชื้อของคอหอยและต่อมทอนซิล พบมีลักษณะเป็นหนองหรือจุดเลือดออกที่คอหอย หรือต่อมทอนซิล โดยเชื้อชนิดนี้สามารถสร้างสารพิษ และทำให้เกิดผื่นที่พบในไข้อีดำอีแดงได้
โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้อีดำอีแดง ได้แก่ เด็กช่วงวัยเรียนอายุ 5 – 15 ปี หรือ คนที่สัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดง มักได้ประวัติว่ามีพี่หรือน้องในครอบครัว หรือเพื่อนที่โรงเรียนมีอาการแบบเดียวกัน ไข้อีดำอีแดงเป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางน้ำมูก น้ำลายที่ไอจามออกไป และจะหยุดแพร่กระจายหลังได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมแล้ว 1 วัน
อาการ
สำหรับแรกเริ่มของผู้ป่วยโรคนี้นั้น จะเริ่มด้วยการมีไข้สูงฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนพลีย ปวดเมื่อยตามตัวและเจ็บคอ อาจพบตุ่มสีแดงที่ลิ้น คล้ายผลสตรอว์เบอร์รี ทอนซิลก็จะบวมแดงและมีหนอง อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างลำคอโต
จากนั้น หลังจากมีไข้ 1-2 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นบริเวณรอบคอ หน้าอก และกระจายไปตามลำตัวและแขนขาอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีผื่นเป็นอาการแรกก็ได้ ผื่นจะมีลักษณะเป็นเม็ดหยาบ ๆ เมื่อลูบจะรู้สึกสาก ๆ คล้ายกระดาษทราย มักจะไม่ขึ้นที่ใบหน้า แต่อาจจะพบในลักษณะที่แก้มแดงและรอบปากซีด อาจจะมีอาการคันบริเวณผื่นได้ และต่อมาผื่นที่มีอยู่นั้น จะมีสีเข้มขึ้นบริเวณรอยพับตามผิวหนัง โดยเฉพาะที่ข้อพับแขน เรียกว่า เส้นพาสเตีย หลังจากผื่นขึ้น 3-4 วันจะเริ่มจางหายไป
จนหลังจากผื่นจางได้ 1 สัปดาห์จะมีอาการลอกเป็นแผ่นของผิวหนังบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือเท้า ส่วนตามลำตัวมักลอกเป็นขุย ๆ อาการผิวลอกนี้บางรายอาจจะพบติดต่อกันได้นานเป็นเดือน
การรักษา “ไข้อีดำอีแดง”
1.โรคนี้ต้องรักษาที่ด้วยยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนนิซิลิน, อะมอกซิซิลิน, หรือ อิริโทรมัยสิน เป็นเวลา 10 วัน และแม้อาการจะหายไปภายใน 3-4 วันก็ต้องรับประทานยาต่อไปจนครบ 10 วันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้รูมาติกและหน่วยไตอักเสบแทรกซ้อน
2.นอกจากนี้ ให้การรักษาตามอาการอื่นๆที่ตรวจพบ แนะนำให้นอนพักผ่อน ดื่มน้ำมาก ๆ
3.ควรกลับมาพบแพทย์เมื่อได้รับการรักษาแล้วกลับเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ มีไข้ร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย ปวดข้อ หรือตุ่มหรือก้อนที่ใต้ผิวหนัง หรือมีอาการบวม ปัสสาวะเป็นสีแดงหรือเลือดปน เป็นต้น
4.ในกรณีที่ผู้ป่วยเด็กติดเชื้อ ควรให้หยุดเรียนหรือแยกตัวออกจากผู้อื่นจนกว่าได้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมงจึงจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น
การป้องกัน “ไข้อีดำอีแดง”
เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ การป้องกันการติดเชื้อจึงสามารถทำได้โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดัวยการรับประทานอาหารที่ประโยชน์ครบ 5 หมู่ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาร่วมกับล้างมือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย
3.อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลสินแพทย์ และ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย