xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเป้า-วัดผลแบบ OKRs หนุนชีวิตปีนี้ให้ดีสมใจ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วันเวลาหมุนผ่านไปเร็วนะครับ ไตรมาสแรกกำลังจะผ่านไป ชีวิตและการงานของคุณก้าวหน้าดีขึ้นกว่าช่วงก่อนอย่างไรบ้าง?

เมื่อตอนเริ่มต้นปีใหม่ ใครได้ตั้งเป้าหมายหรือมีปณิธานสำหรับปีนี้กันขนาดไหนบ้าง นี่ก็เข้าสู่3เดือนแรกของปีใหม่แล้ว น่าจะตรวจดูผลความคืบ ว่าราบรื่นหรือมีอะไรติดขัดให้ต้องปรับแก้หรือพัฒนาไหม

ก็อย่างที่ปรมาจารย์ปีเตอร์ ดรักเกอร์เคยบอกไว้ว่า “อะไรที่วัดผลไม่ได้ ก็พัฒนามันไม่ได้”

แล้วถ้าคิดตั้งหลักใหม่ให้ชีวิต น่าจะถือเป็นจังหวะดีของการเริ่มต้น เพราะเป็นทั้ง ปีใหม่สากล ปีใหม่จีน และปีใหม่ไทย ที่กำลังจะมาในเดือนเมษายนนี้ ก็ขอให้สำเร็จดีกว่าช่วงปีก่อน ทั้งด้านการงาน การเงิน สุขภาพ และครอบครัว นะครับ

อันที่จริง “ความสำเร็จ” ไม่ใช่เกิดจากความบังเอิญ หรือคำอวยพรจากผู้ปรารถนาดี ที่มอบให้เป็นกำลังใจ

แต่ถ้าเราคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ ว่า การจะให้เกิด “ผลดี” หรือความสำเร็จที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม ก็ต้องสร้าง “เหตุที่ดี” ก่อน

นั่นคือ ต้องมีการวางแผนเชิงกลยุทธ์ มีเป้าหมาย การลงมือทำ ติดตามความคืบหน้า และวัดผลความสำเร็จ

เพื่อให้เห็นแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ตอบโจทย์ข้างต้น ผมจึงขอชวนมาเรียนรู้สาระสำคัญจากหนังสือเด่นเล่มใหม่ของ ณรงค์วิทย์ แสงทอง ชื่อปก OKRs ชีวิต : ปรับมุมคิดพิชิตเป้าหมาย


มารู้จัก OKRs กันก่อน
วงการทั่วไปโดยเฉพาะนักบริหารทรัพยากรบุคคล(HR) ย่อมจะคุ้นเคยกับตัวชี้วัดผลงานสำคัญ หรือKPI (Key Performance Indicator) ที่วงการต่างๆมักมีการตั้งเป้าหมายตอนต้นปี แล้วประเมินผลงานตามเป้าหมายตอนปลายปี ประกอบการพิจารณาผลตอบแทน หรือการเลื่อนขั้น

แต่ OKRs ซึ่งเป็ฯคำย่อจาก Objective & Key Results คือแนวคิดในการตั้งเป้าหมายและการบริหารเป้าหมายให้สำเร็จขององค์กรยุคใหม่ ที่ไม่เพียงทำให้สำเร็จ แต่มุ่งเป้าหมายที่ท้าทาย และเร้าใจ ใน “สิ่งที่อยากทำ” เพิ่มขึ้นจาก “สิ่งที่ต้องทำ”

วิธีคิดแบบ OKRs ที่มีการใช้ได้ผลผลจนโด่งดังและมีธุรกิจชั้นนำระดับโลกนำไปใช้บริหารให้เป้าหมายสำเร็จเป็นจริง

หลักคิดและตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้ ยืนยันได้ว่าแนวคิดและวิธีการ OKRs สามารถใช้กับการบริหารเป้าหมายชีวิตให้สำเร็จสมใจได้

O = Objective
แปลว่า วัตถุประสงค์

หมายถึง เป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น เช่น

● ต้องการมีรายได้จากการลงทุนเดือนละ10,000 บาท
● ต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ไม่ติดขัด ทั้งการกิน การเที่ยว
หรือ การพักผ่อน
● ต้องการเป็นเน็ตไอดอล นักสร้างแรงบันดาลใจ

KRs = Key Results
แปลว่า ผลลัพธ์ที่สำคัญ

หมายถึง วิธีวัดผลให้รู้ว่าเป้าหมาย สิ่งที่ต้องการนั้นทำสำเร็จ

จากตัวอย่างข้างต้น “ต้องการใช้ชีวิตจนเกษียณ อย่างสุขกายสบายใจ ทั้งการกิน การเที่ยว การพักผ่อน ที่ทำได้อย่างไม่ติดขัด”

เพื่อจะมั่นใจได้ว่าทำได้สมใจตามเป้าหมายนั้น ก็ต้องกำหนด ผลลัพธ์ที่สำคัญ” (KR) มารองรับ เช่น

● ต้องมีเงินเก็บสะสมไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท
● ต้องมีรายได้แบบไม่ต้องทำอะไรอีก ( Passive Income ) เช่น
ได้จาก ค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ รวมเดือนละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท
● ทำงานหรือมีอาชีพแบบที่เลือกทำได้ทั้ง วัน เวลา สถานที่ เช่น
เป็นYouTuber เป็นนักเขียน นักออกแบบอิสระ
● มีเงินออม (รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท)
“ถ้าทำได้ทุกข้อข้างต้น ก็มั่นใจได้ว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แน่นอน” อาจารย์ณรงค์วิทย์พิสูจน์มาแล้ว

หลักการตั้งเป้าหมายแบบ OKRs

1.ถามให้ชัด-ตอบให้ชัวร์ว่าต้องการอะไรแน่
เช่น “อยากรวย” ต้องขยี้ถามตัวเองให้ละเอียด: รวยไปทำไม - รวยคืออะไร - มีเท่าไหร่คือรวย - ถ้ารวยตามที่คิด จะมีความสุขหรือ มีคุณค่าอะไรกับตัวเองหรือคนอื่น ?- ถ้าไม่ใช้คำว่า”รวย” มีคำอื่นที่ตอบความหมายในใจไหม

2. ถ้าสิ่งที่อยากได้มีเยอะ อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด ก็เอามาเป็นเป้าหมาย ไม่เกิน 3 ประเด็น เพื่อโฟกัสเรื่องที่สำคัญ

3.จะใช้อะไรชี้วัดว่าเป้าหมายนั้นสำเร็จจริง และควรมีคำถามต่อว่า เมื่อบรรลุเป้าหมายหรือได้ตามวัตถุประสงค์แล้วจะเห็นอะไรหลังจากนั้น เช่น

● ครอบครัวอบอุ่นมีความสุข
● ลูกๆเติบโตอย่างมีคุณภาพ
● มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น
● มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น และสังคม

OKRs ส่งเสริมการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย

หากต้องการเป้าหมายที่ท้าทาย และเร้าใจให้อยากทำ ก็ต้องปรับเปลี่ยนชุดความคิด (Mindset ) เพื่อชักนำให้เกิดเป้าหมายแนวนั้น

● คนที่คิดว่าทำงานเพื่อเงิน เขาจะทำงานให้เท่ากับค่าจ้างหรือเงินเดือนที่ได้
● ถ้าคิดว่าต้องทำงานรับผิดชอบตามหน้าที่ ก็จะทำแค่ ให้งานเสร็จ
● ถ้าคิดว่าต้องทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกวัน ก็จะพยายามคิดค้นปรับปรุงวิธีทำงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดีขึ้น
● ถ้าคิดว่าการทำงานทุกวันเป็นหนทางก้าวหน้าในอาชีพ เขาจะไม่แค่ทำงานให้เสร็จ ไม่ใช่แค่ปรับปรุงงานให้ดีขึ้น แต่คิดไกลไปว่าจะสะสมประสบการณ์อะไร ต้องพัฒนาตัวเองในเรื่องใดเพิ่มบ้าง นอกจากงานประจำที่ทำ

ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่า แนวคิดและวิธีปฏิบัติแบบOKRs สามารถนำไปใช้กับองค์กร หรือชีวิตคนธรรมดา เพื่อบริหารให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายด้วยหลักเดียวกัน แต่ต่างกันที่เนื้อหา ขนาดของเป้าหมาย และจำนวนคนที่เกี่ยวข้อง

................................
ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ
OKRs ชีวิต ปรับมุมคิด พิชิตเป้าหมาย
ผู้เขียน ณรงค์วิทย์ แสงทอง
สำนักพิมพ์ ต้นคิด
ผู้จัดจำหน่าย อัมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์



แนะนำหนังสือ


เพราะฉันแตกต่าง จึงบริหารเวลาแบบนี้
ผู้เขียน : ยู ซึซึกิ
ผู้แปล : เกวลิน ลิขิตวิทยาวุฒิ
สำนักพิมพ์ : บิงโก
ราคา 265 บาท
"ซูซูกิ ยู" คือนักเขียนสายวิทย์ที่มีคนอ่านเพจกว่า 2.5 ล้านคนต่อเดือน เขาทุ่มเวลาศึกษางานวิจัยกว่า 4,063 ชิ้น เพื่อค้นหาว่า "วิธีบริหารเวลาแบบไหนดีที่สุด?" ในที่สุดเขาก็พบคำตอบแสนเรียบง่ายว่า "แต่ละคนมีวิธีเฉพาะในแบบของตัวเอง" สิ่งที่ซูซูกิค้นพบคือ ถึงทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่เรา "รับรู้เวลา" ได้ไม่เท่ากัน และเราก็ "คำนวณเวลา" ที่ต้องใช้ไม่เคยตรงกัน ดังนั้นเราต้องเลือกวิธีให้เหมาะกับนิสัยของเรา


นำความสุขมาสู่งาน ด้วยการจัดสิ่งของและข้อมูล
ผู้เขียน : Marie Condo , Scott Sonenshein
ผู้แปล : อรดา ลีลานุช
สำนักพิมพ์ : นานมีบุ๊คส์
ราคา 325 บาท
นำเสนอความสำคัญของการจัดของ ชี้ประเด็นว่าการจัดของส่งผลต่อการทำงานและจุดประกายความสุขในอาชีพของคุณได้อย่างไร ทั้งยังแนะนำวิธีการจัดของทางกายภาพและไม่ใช่ทางกายภาพ เช่น ข้อมูลดิจิทัล รวมทั้งการบริหารเวลา บริหารทีมงานอย่างเป็นรูปธรรม ทำตามได้จริง ซึ่งจะทำให้เราทุกคนเห็นความสำคัญของการจัดของที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและการทำงานอย่างไม่น่าเชื่อ


วิธีผูกมิตรและพิชิตใจคน
ผู้เขียน : เดล คาร์เนกี
ผู้แปล : ดร. ณัฐผล ประดิษฐผลเลิศ
สำนักพิมพ์ : สแนปเอ็กซ์
ราคา 345 บาท
หนังสือสร้างแรงจูงใจที่ประสบความสำเร็จสูงสุดตลอดกาลเนื้อหาในเล่มได้รับการปรับปรุงเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีเพื่อคงความสดใหม่สำหรับนักอ่านยุคปัจจุบันแต่ยังคงรักษาแก่นหลักที่อยู่เหนือกาลเวลาจากต้นฉบับคำแนะนำอันล้ำค่าของ เคล คาร์เนกี


เลิกเป็นคนดี
ผู้เขียน : เคน โมกิ
ผู้แปล : ไพลิน กลิ่นเกษร
สำนักพิมพ์ : เชนจ์พลัส
ราคา 165 บาท
ถ้าอยากเปลี่ยนเเปลงชีวิตให้ดีขึ้น มาเลิกทำตัวเป็นคนดีกันเถอะ คุณกำลังแสดงเป็นคนดีอยู่หรือเปล่า? การเป็นคนดีในสารพัดรูปแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป “เคน โมกิ” นักประสาทวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ มีคำแนะนำสำหรับทุกคน เพื่อรีเซ็ตสมองตัวเองเสียใหม่ ให้เราเลิกเป็นคนดีซะที!


กำลังโหลดความคิดเห็น