เมื่อร่างกายตามบริเวณต่าง ๆ นั้นมีปัญหาถึงขั้นกระทบกระทั่ง อาจจะด้วยการหักหรือเคลื่อนก็ตามทีแล้วนั้น อุปกรณ์เสริมอย่าง “เฝือก” ก็ถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้แผลดังกล่าวหายเร็วขึ้น ฉะนั้นแล้ว เรามาทำความเข้าใจกับ “เฝือก” กัน
“เฝือก” คืออะไร
“เฝือก” คือ อุปกรณ์ที่ใช้ดามกระดูกและข้อ เพื่อต้องการให้อวัยวะส่วนนั้นอยู่นิ่งๆ ในปัจจุบันนี้ นอกจากเผือกที่ทำจากปูนปลาสเตอร์แล้ว ยังมีเผือกใยสังเคราะห์ที่มีน้ำหนักเบาแข็งแรง ทนทาน และมีสีสันสวยงามอีกด้วย ซึ่งมี 2 ประเภท คือ
1. เฝือกปูน
โดยเฝือกปูนนั้น ทำจากปูนพลาสเตอร์มาเคลือบบนผ้าฝ้าย เมื่อใส่แล้วก็จะมีสีขาวนิยมใช้กันเนื่องจากราคาค่อนข้างถูก การใส่เฝือก การตัดเฝือก ดัดเฝือกก็ทำได้ง่าย แต่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก แตกร้าวง่าย ระบายอากาศไม่ค่อยดี อาจทำให้คันเพราะความอับชื้น ยิ่งถูกน้ำเฝือกก็จะเละเสียความแข็งแรง ซึ่งเมื่อใส่เฝือกปูนแล้วจะต้องใช้เวลา 2-3 วัน เฝือกจึงแข็ง ดังนั้นจึงไม่ควรเดินลงน้ำหนักก่อนเมื่อใส่เสร็จใหม่ ๆ
2. เฝือกพลาสติก
เฝือกลักษณะนี้ เป็นพลาสติกสังเคราะห์ มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี แข็งแรง ทนทาน และเมื่อถ่ายภาพรังสี จะเห็นกระดูกได้ชัดเจนกว่าแต่ราคาแพง เวลาตัดเฝือก ดัดเฝือกทำได้ยาก ทำให้ต้องตัดออกและใส่เฝือกใหม่อีกครั้ง แต่ข้อดีคือ เฝือกพลาสติกแห้งเร็วภายใน 1 ชั่วโมง
ช่วงใดถึงเรียกว่าเข้าเฝือก
1.กระดูก ข้อเคลื่อนหรือหัก
ในรายที่ได้รับบาดเจ็บหรืออักเสบของกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นประสาท หรือเป็นโรคกระดูก เพื่อให้อวัยวะส่วนนั้นอยู่นิ่ง ๆ ทั้งลดอาการปวด บวม อักเสบของอวัยวะนั้นให้ทุเลาลง และหายเป็นปกติโดยเร็ว
2. แก้ไขความผิดรูปของอวัยวะ
เช่น เท้าปุกให้กลับมามีรูปทรงที่ปกติ และทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป
3. ป้องกันการหดรั้งของกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ
เช่น แผลจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
ทำอย่างไรเมื่อต้องเข้าเฝือก
-ไม่ควรให้เฝือกรับน้ำหนักทันที หรือ ลงน้ำหนักเดินบนเฝือก จนกว่าเฝือกจะแข็งแรงเต็มที่
-ยกแขน หรือขาส่วนที่เข้าเฝือก ให้สูงกว่าระดับลำตัว โดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรก เพื่อลดอาการบวม
-อย่าให้เฝือกเปียกน้ำ หรือ ส่งสกปรกอย่างอื่น และอย่าให้น้ำเข้าไปภายในเฝือก
ภาวะแทรกซ้อน ในยามใส่ “เฝือก”
-ภาวะเฝือกหลวม เนื่องจากอวัยวะภายในเฝือกยุบบวมลง หรือเข้าเฝือกไม่กระชับตั้งแต่แรก
-เฝือกมีการคับหรือแน่นเกินไป เกิดจากการบวมของอวัยวะ หากปล่อยให้อวัยวะอยู่ในตำแหน่งต่ำเกินไป
-การเข้าเฝือกนานเกินไป ทำให้ข้อยึดติด
-การถอดเฝือกออกเร็วเกินไป โดยที่กระดูกยังไม่ติดกันดี ทำให้เกิดการเคลื่อนหลุดของปลายกระดูกที่หัก ติดกันผิดรูป ติดช้า หรือไม่ติดกัน
การดูแลตัวเองตอนเข้าเฝือก
- หากมีอาการคัน ห้ามใช้วัสดุสอดเข้าไปเกาในเฝือกเพราะอาจทำให้ผิวหนังมีแผลถลอก และระวังวัตถุขนาดเล็กที่อาจหลุดเข้าไปในเฝือก จะทำให้เกิดแผลกดทับ และมีการติดเชื้อตามมาได้
- หมั่นบริหารกล้ามเนื้อเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยกสรเกร็งกล้ามเนื้อ ทั้งส่วนที่อยู่นอกเฝือกร่วมกับการขยับเคลื่อนไหวข้อส่วนที่อยู่นอกเผือก
- ไม่ควรตัด แต่ง หรือถอดเฝือกด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียต่อกระดูกได้ เช่น กระดูกคดงอ
ข้อปฏิบัติภายหลังการถอดเฝือก
-ทำความสะอาดบริเวณนั้นเบาๆด้วยสบู่และน้ำอาจทาน้ำมัน หรือโลชั่น เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น
-เริ่มเคลื่อนไหวข้อที่ถอดเฝือกทันทีที่ทำได้
-ถ้ามีอาการบวมหลังจากเดิน หรือห้อยแขน ขา ควรยกแขน ขา ให้สูง โดยใช้หมอนหรือวัสดุอ่อนนุ่มรองไว้เช่นเดียวกับที่ทำในขณะเข้าเฝือกอยู่
-ไม่ควรใช้งานอวัยวะส่วนนั้นเต็มที่ จนกว่ากล้ามเนื้อจะแข็งแรง หรือตามคำแนะนำของแพทย์
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลสินแพทย์ และ โรงพยาบาลนครธน