xs
xsm
sm
md
lg

“ปวดหัวแบบคลัสเตอร์” หาหมอไม่ทัน อาจสุ่มเสี่ยงต่อชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาการปวดหัวของแต่ละคนนั้น แน่นอนว่าย่อมมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องพบเจออยู้บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งก็ต้องรับมือกันแตกต่างกันไป แต่ถ้ามาแบบบ่อยและถี่ อย่าง “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์” นั้น อาการที่ต้องรับมือ ก็ต้องมีเพิ่มเติมมากกว่าเดิม ซึ่งหากดูแลกันไม่ทัน ก็อาจจะหมายถึงชีวิตเลยก็เป็นได้...

“ปวดหัวแบบคลัสเตอร์” คืออะไร

การปวดหัวแบบคลัสเตอร์ คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดมาจากการมีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติไตรเจอร์มินอล และการทำงานของต่อมไฮโพทาลามัส ที่ควบคุมนาฬิกาชีวิต โรคนี้มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อาการปวดมีความรุนแรง ลักษณะปวดซีกเดียวหรือครึ่งซีก ในบริเวณกระบอกตาลึกๆ หลังตา หรือบริเวณขมับ

อาการของ “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์”

โดยการปวดแต่ละครั้งเป็นเวลานานประมาณ 15 นาที ถึง 3 ชั่วโมง โดยจะปวดลักษณะมาเป็นชุด ๆ ติดต่อกันทุกวัน หรือติดต่อกันหลายสัปดาห์ โดยมักจะปวดในช่วงระยะเวลาเดียวกันของทุกปี นอกจากนั้นยังพบร่วมกับอาการอื่นด้วย ได้แก่ น้ำตาไหล น้ำมูกไหล ลืมตาลำบาก ตาแดง คัดจมูกด้านเดียวกับที่ปวด หนังตาบวม เหงื่อออกที่หน้าและหน้าผาก


นอกจากอาการปวดหัวแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

-ตาแดง
-น้ำตาไหลออกมามาก
-รูม่านตาหดเล็กลง
-ตาไวต่อแสง
-เปลือกตาหย่อนหรือบวม
-คัดจมูกหรือมีน้ำมูก
-เกิดรอยแดงหรือมีเหงื่อออกบนใบหน้า
-กระสับกระส่าย
-เวียนหัว

ปัจจัยของการเกิด “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์”

ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการดังกล่าวนี้ แต่สันนิษฐานว่ามีสาเหตุมาจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับฮอร์โมน อุณหภูมิ การนอนหลับ และความดันภายในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดบริเวณใบหน้าขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นประสาทบนใบหน้า และกระตุ้นความรู้สึกไปยังสมองมากผิดปกติ จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวลักษณะนี้ขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหลายประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการขึ้นได้ ดังนี้




-การสูบบุหรี่
-การดื่มแอลกอฮอล์
-กลิ่นฉุน เช่น น้ำหอม สี น้ำมันเบนซิน เป็นต้น
-ความร้อน เช่น การอาบน้ำอุ่น ออกกำลังกายในห้องที่มีอากาศร้อน เป็นต้น
-มีประวัติคนในครอบครัวเป็น
-เกิดเนื้องอกในสมองหรือต่อมใต้สมอง


การรักษาอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์

การรักษาโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ในระยะฉับพลันมีการให้ออกซิเจน การฉีดยาบรรเทาอาการปวดทางหลอดเลือดดำ และการฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อบรรเทาอาการปวดที่รุนแรง และพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ และพยายามหลีกเลี่ยงต่อสิ่งกระตุ้นนั้น เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดความทรมานจากการปวดศีรษะคลัสเตอร์ เมื่อมีอาการต้องสงสัย ควรรีบรับการตรวจรักษา เพื่อแยกจากโรคที่มีอาการคล้ายกันเพื่อจะได้หายจากอาการปวด อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


การป้องกัน “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์”

แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการดังกล่าว จึงไม่อาจระบุวิธีป้องกันอย่างแน่ชัดได้ และแม้ภาวะนี้อาจไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรป้องกันอาการกำเริบด้วยวิธีการ ดังนี้

-ไม่อยู่บนที่สูง
-ไม่อยู่ในสถานที่ที่มีความร้อน
-ไม่ทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก
-หลีกเลี่ยงของที่มีกลิ่นแรง และอาหารที่มีไนเตรต
-ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ และไม่ใช้สารเสพติดอื่น ๆ
-ใช้ยาเพื่อช่วยลดความเสี่ยงและทำให้เกิดอาการปวดหัวน้อยลง เช่น สเตียรอยด์ เวอราปามิล ลิเทียม เมทิเซอไจด์ เออร์โกตามีน เมลาโทนิน ยาต้านชักบางชนิดอย่างโทพิราเมท เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ pobpad.com


กำลังโหลดความคิดเห็น