xs
xsm
sm
md
lg

“มัทฉะ” กับประโยชน์ต่อสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในการเลือกดื่มเครื่องดื่มนั้น สิ่งที่สำคัญนอกจากความอร่อยแล้ว ต้องดูด้วยว่า สิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยหรือไม่ ซึ่ง “มัทฉะ” ก็ถือว่าเป็นเครื่องดื่มอีกทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ

ประโยชน์ของ "มัทฉะ"

1. ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด

มัทฉะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย โดยเฉพาะสารกลุ่มคาเทชิน (Catechins) ซึ่งเป็นสารที่อาจมีส่วนช่วยลดความดันโลหิต ระดับคอเสสเตอรอลโดยรวม ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) การอักเสบภายในร่างกาย และความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งบางชนิด

นอกจากนี้ ในงานศึกษาบางชิ้นพบว่าการบริโภคมัทฉะอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น

-โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
-ภาวะหัวใจขาดเลือด
-โรคหลอดเลือดสมอง

ขณะเดียวกัน ยังอาจช่วยควบคุมระดับเอนไซม์ตับในผู้ป่วยไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย

2. ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว

การบริโภคมัทฉะในรูปแบบของเครื่องดื่มและอาหาร อาจช่วยให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัวได้ เนื่องจากใบชาที่นำมาทำเป็นผงมัทฉะจะมีปริมาณคาเฟอีนที่ค่อนข้างสูง และยังมีสารแอล–ธีอะนีน ที่อาจช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ควบคุมความเครียด บรรเทาอาการอ่อนเพลียที่อาจเกิดขึ้นหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

โดยมีงานวิจัยพบว่าการได้รับสารแอล–ธีอะนีนร่วมกับคาเฟอีนในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยให้ร่างกายตื่นตัวและทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรควบคุมปริมาณการบริโภคหรือดื่มมัทฉะให้เหมาะสม โดยจำกัดปริมาณการดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน (474 มิลลิลิตร) และหลีกเลี่ยงการดื่มมัทฉะใกล้เวลาเข้านอนหรือห่างจากเวลาเข้านอนประมาณ 6 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับได้

3. ดีต่อสุขภาพช่องปาก

มัทฉะในรูปแบบชาเขียวเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งในกลุ่มคาเทชินที่ชื่อว่า EGCG หรือสารอีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต ซึ่งเป็นสารที่ดีต่อสุขภาพในช่องปาก เนื่องจากสารนี้จะช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดคราบพลัคสะสมจนอาจนำไปสู่ปัญหาฟันผุตามมา

นอกจากนี้ สารดังกล่าวยังส่งผลดีต่อสุขภาพในช่องปากด้านอื่นด้วย เช่น ลดการสะสมของสารประกอบซัลเฟอร์ภายในช่องปากที่เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหากลิ่นปาก และอาจช่วยบรรเทาอาการจากโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis)


โทษและข้อระวังของ “มัทฉะ”

แม้ว่า “มัทฉะ” จะมีประโยชน์ขนาดไหนก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็ควรมีการควบคุมปริมาณน้ำตาลที่มักถูกนำมาปรุงรสร่วมกับมัทฉะเพื่อเพิ่มความน่ารับประทานให้เหมาะสมด้วย

นอกจากนี้ ไม่ควรให้เด็กบริโภค เนื่องจากใบชาที่ถูกนำมาทำเป็นผงมัทฉะอาจมีสารปนเปื้อนหรือสารอาหารบางอย่างที่มากเกินพอดีจนส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้หรือเป็นพิษต่อตับและไตได้

"มัทฉะ" ควรดื่มเวลาไหน

ถ้าเป็นการแนะนำในการเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ก็จะแนะนำว่า

-เวลาเช้าหลังตื่นนอนถือเป็นเวลาที่ร่างกายได้รีเฟรชตัวเอง ทำให้กระปรี้กระเปร่าและสมองแล่น แต่ก็ต้องระวังในเรื่องท้องว่างด้วย

-หรือถ้าดื่มมัทฉะในระหว่างการทานอาหาร ก็ควรเว้นระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงหลังทานอาหาร เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่ก่อน เพราะถึงแม้ชาจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ร่างกายก็ต้องการสารอาหารชนิดอื่น ๆ ด้วย

-ในเวลากลางวัน ดูจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดื่มชา ที่สามารถแก้อาการง่วงนอนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสำหรับท่านใดที่จำเป็นต้องทำงานระหว่างวัน แต่ไม่ชอบการดื่มกาแฟ จึงทำให้ชาเป็นตัวเลือกการแก้ง่วงที่ดี

เปรียบเทียบระหว่างมัทฉะกับกาแฟ

แม้ว่าทั้งกาแฟและมัทฉะต่างช่วยเพิ่มพลังงานให้เราได้เหมือนกัน แต่มีรูปแบบการกระตุ้นทำให้ตื่นตัวไม่เหมือนกัน ถ้าอยากตื่นเต็มตาแบบเห็นผลเร็วเพื่อปิดงานด่วน ขอแนะนำให้ดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนจำนวนมากทำให้ตื่นตัวเร็ว แต่จะอยู่ได้นานเต็มที่คือ 3 ชั่วโมง แต่หากรู้ตัวว่าคืนนี้มีงานที่ต้องสะสางอีกหลายกอง คงต้องนั่งทำงานโต้รุ่งกันไปเลย การดื่มมัทฉะก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า แม้กระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัวได้ช้ากว่า แต่ออกฤทธิ์อยู่ได้นานกว่ามากถึง 6 ชั่วโมงเลยนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad.com. aromathailand.com และ theindianspot.com


กำลังโหลดความคิดเห็น