หลาย ๆ คน ที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งวัน หรือ มีอาการง่วงนอนมาก่อนหน้านี้ แล้วต้องมาขับรถส่วนตัว เพื่อที่จะไปจุดหมายตามที่ต้องการเฉกเช่นปกติที่ผ่านมา แต่หากเผลอเรอลืมจนวูบหลับไป นั่นก็อาจจะเจอ “ภาวะหลับใน” ก็ได้ ซึ่งถ้าเกิดเจออุบัติเหตุก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้เช่นกัน
“ภาวะหลับใน” คืออะไร
ภาวะหลับในหรือการหลับระยะสั้น ๆ หรือ Microsleep เป็นปรากฏการณ์การสับสนระหว่างการหลับและการตื่น โดยการหลับเข้ามาแทรกการตื่นอย่างเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1 – 2 วินาที
สัญญาณบอกเหตุของ “ภาวะหลับใน”
ร่างกาย
เมื่อร่างกายกำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับใน ร่างกายอาจเกิดอาการ อย่างหาวบ่อย กะพริบตาช้า ๆ หรือกะพริบตาถี่ ๆ เพื่อให้ตื่น เห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่ชัดเจน สัปหงก ร่างกายกระตุก และตาหนักหรือลืมตาไม่ขึ้น
ความคิด
การสังเกตอาการทางความคิดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้แน่ใจว่าร่างกายกำลังจะหลับใน ซึ่งสังเกตได้จากความคิดของสมอง เช่น ไม่สามารถจดจำเหตุการณ์เมื่อไม่กี่นาทีก่อนได้ ไม่สามารถจดจ่อกับงานหรือสิ่งที่ทำ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ลดลง และตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้า เป็นต้น
พฤติกรรมการขับรถ
พฤติกรรมและสัญญาณการหลับในขณะขับรถ สามารถยืนยันได้ถึงภาวะดังกล่าว ดังนั้น เมื่อเกิดขึ้นต่อไปนี้ควรหยุดรถในที่ปลอดภัยทันที เลี้ยวรถผิดทาง ขับเลยทางออก ไม่จดจ่อกับการขับรถ จดจำทางที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ ขับรถส่ายหรือคร่อมเลนถนน และเฉี่ยวชนขอบถนน
โดยหากมีอาการเหล่านี้หรือความรู้สึกง่วง ไม่ควรฝืนขับรถหรือทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้
วิธีป้องกัน “ภาวะหลับใน”
นอนให้พอ
ในจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมคือ 7 – 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะถ้าต้องขับรถทางไกล ควรพักผ่อนให้เพียงพอติดต่อกัน 2 – 3 คืนขึ้นไปก่อนออกเดินทาง
นอนเป็นเวลา
ควรเข้านอนเวลาที่เหมาะสมคือ ช่วง 4 ทุ่มถึงเที่ยงคืน เพื่อให้โกรธฮอร์โมนที่ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตและส่งเสริมการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งหลั่งในช่วงตี 2 ถึงตี 4 ทำงานได้ดี เพราะฉะนั้นในช่วงใกล้ 3 ทุ่มควรฝึกตัวเองให้ผ่อนคลายและเตรียมพร้อมเข้าสู่การนอน
นอนเวลาเดิมสม่ำเสมอ
พยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุก ๆ วัน จะช่วยให้นอนหลับเต็มอิ่ม
งดดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
เครื่องดื่มจำพวก ชา โกโก้ เป็นต้น ในช่วงหลัง 4 โมงเย็น เพราะจะทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่ลึก ส่งผลให้ตื่นมาไม่สดชื่น
เลือกใช้หลอดไฟสีส้ม
ในห้องนอน เพราะไม่รบกวนดวงตา ช่วยให้ผ่อนคลาย หลับได้ง่ายขึ้น
อุณหภูมิห้องนอน
ควรอยู่ระหว่าง 25 – 26 องศาเซลเซียส ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ช่วยให้ไม่ตื่นกลางดึกหลับสนิทต่อเนื่อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad.com และ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล