เชื่อว่าหลายคนคง “เลือดกำเดาไหล” ส่วนใหญ่ก็จะคิดว่าการที่เลือดกำเดาไหลเป็นเพียงแค่อาการผิดปกติธรรมดาที่อาจจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ แต่ความจริงแล้วอาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังป่วยเป็นโรคบางอย่างอยู่ก็ได้ เราจะมาดูกันว่าเลือดกำเดาเกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีหยุดอย่างไร
เลือดกำเดาไหล เกิดจากอะไร
“เลือดกำเดาไหล” คือ ภาวะเลือดออกทางจมูก ที่สามารถออกทางจมูกด้านหน้า ซึ่งมักจะไม่ค่อยรุนแรง และด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดที่ใหญ่กว่าด้านหน้า จึงทำให้มีอาการรุนแรงกว่า มีเลือดออกปริมาณมากกว่า และสามารถทำให้มีเลือดออกทางปากได้ด้วย ยิ่งหากกลืนเลือดลงไป จะทำให้มีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ้าลงปอดก็อาจไอเป็นเลือดได้ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะเลือดออกทางจมูกที่มาจากด้านหลังโพรงจมูก มักมีสาเหตุมาจากอันตรายที่ร้ายแรงกว่าภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า
สาเหตุของการเกิดอาการเลือดกำเดาไหล
1.เลือดกำเดาที่เกิดจากสาเหตุทั่วไป
- อากาศแห้งอันเกิดจากสภาพอากาศร้อน ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ หรือ อากาศ สิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่หรือที่อยู่อาศัยร้อนจัด ทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกแห้ง จับตัวเป็นเกล็ด และแตกออกเมื่อถูกสัมผัสแรง ๆ
- แกะหรือแคะจมูกแรง ๆ
- จามแรง ๆ หรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ
- ได้รับอุบัติเหตูหรือได้รับแรงกระแทกแรง ๆ บริเวณจมูก ศีรษะ หรือใบหน้า
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ ยาหดหลอดเลือด ยาต้านฮิสตามีน จนทำให้โพรงจมูกแห้งและเป็นเหตุให้เลือดกำเดาไหล
- การใช้เครื่อง CPAP (Continuous positive airway pressure) ในการักษาผู้ป่วยนอนกรน หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับ
- หลังการผ่าตัดจมูก ผ่าตัดผนังโพรงจมูก การผ่าตัดไซนัส หรือ หลังการทำศัลยกรรมจมูก
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ที่มีสาเหตุจากเชื้อรา
- การใช้แอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารระเหยที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณระบบทางเดินหายใจ
- การสอดสายให้ออกซิเจนผ่านทางจมูก การใส่สายอาหารทางจมูก
- การใช้ยาแอสไพรินเกินขนาด
- การนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในโพรงจมูก หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในจมูก
2. เลือดกำเดาไหลที่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของร่างกาย
- มีผนังกั้นโพรงจมูกคด
- ผนังกั้นโพรงจมูกทะลุเป็นรู
- เกิดกระบวนการอักเสบในจมูก
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย
- ภาวะเลือดออกผิดปกติ
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน
- โรคเลือดออกทางพันธุกรรม หรือ ภาวะเส้นเลือดฝอยขยายตัว
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- ก้อนในจมูก หรือ โรคริดสีดวงจมูก
- โรคมะเร็งในโพรงจมูก
- โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก
- เนื้องอกในจมูก
เลือดกำเดาไหลแบบไหนต้องไปพบแพทย์
- เลือดกำเดาไหลบ่อย โดยมักจะไหลซ้ำบริเวณรูจมูกข้างเดิม ข้างเดียวตลอด และเป็นบ่อย ๆ จนดูผิดสังเกต
- มีเลือดกำเดาไหลปริมาณมาก แม้จะเป็นครั้งเดียวก็ควรไปพบแพทย์ เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดโรคได้ ซึ่งหากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายได้
- เลือดกำเดาไหลในลักษณะเป็นก้อนลิ่มเลือด ซึ่งเป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่มีเลือดกำเดาไหล
- ไหลเป็นเวลานานต่อเนื่องมากกว่า 5 นาที พร้อมกับมีสีของเลือดกำเดาเป็นสีชมพูจาง ๆ จะมีความรุนแรงมากกว่ากรณีที่เป็นเลือดสีแดงสด
- มีเลือดกำเดาไหล ควบคู่กับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น คัดจมูก หรือมีอาการหูอื้อ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ควรพบแพทย์ทันที
วิธีหยุดเลือดกำเดาไหลในสถาณการณ์ฉุกเฉิน
- เมื่อเลือดกำเดาไหล ให้หยุดทุกสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเดิน วิ่ง หรือยืนอยู่ก็ตาม เพราะอาจจะมีอาการหน้ามืด หมดสติ เป็นลม ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายได้นั่นเอง โดยเฉพาะกรณีที่เลือดออกในปริมาณมาก
- ให้ผู้ป่วยที่มีเลือดกำเดาไหล นอนเอนตัวลง เอาอะไรหนุนศีรษะไว้ เพื่อไม่ให้ศีรษะต่ำจนเกินไป คือ ท่านอนศีรษะสูง ลักษณะนอนเตียงผ้าใบชายหาด ซึ่งท่านอนแบบนี้เป็นการป้องกันการสำลัก หรือการไหลย้อนกลับของเลือดไปที่จมูกอีกด้วย ที่สำคัญ ห้ามแหงนศีรษะขึ้นเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการทำให้สำลักเลือดได้
- ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดไหลปริมาณน้อย สามารถห้ามเลือดด้วยการประคบน้ำเย็นได้ พร้อมกับบีบจมูกก่อน จากนั้นก็ให้อมน้ำเย็นเอาไว้ ซึ่งจะช่วยในการห้ามเลือดได้ดี เพราะมีเส้นเลือดอยู่บริเวณ
เพดานปาก จึงทำให้เลือดหยุดเร็วกว่านั่นเอง
- หากมีเลือดออกที่จมูกด้านหน้าในปริมาณมาก ให้บีบจมูก หายใจทางปาก แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยพบแพทย์ทันที
เลือดกำเดาไหลสามารถพบได้ทุกเพศ และทุกวัย เป็นอาการที่ไม่ได้น่ากังวลใจมาก แต่ก็ไม่ควรมองข้าม หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการเลือดกำเดาไหลผิดปกติ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และรักษาอย่างถูกวิธี
ข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก
โรงพยาบาลเมดพาร์ค : https://shorturl.asia/7S8Tz
โรงพยาบาลพญาไท :https://shorturl.asia/nQVNX
ข่าวโดย : พันนา วงศ์ใหญ่