เมื่อเข้าสู่หน้าหนาวทีไร แน่นอนว่าจะต้องประสบกับอากาศเย็นอย่างหลีกหลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในระบบร่างกายของแต่ละคนนั้น ก็มีความแตกต่างกันออกไป และถ้าใครดูแลร่างกายที่ไม่ดี ก็อยาจจะพบเจอกับ “ภาวะตัวเย็นเกิน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งความร้ายแรงนี้ อาจจะถึงขั้นชีวิตเลยทีเดียว
“ภาวะตัวเย็นเกิน” คืออะไร
สำหรับภาวะตัวเย็นเกิน หรือ ไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกิน เป็นผลมาจากการสัมผัสถูกความหนาวเย็นระยะเวลานาน เช่น อยู่ในอากาศหนาว หรือแช่ในน้ำที่เย็นจัด ทำให้ร่างกายสูญเสียกลไกการปรับอุณหภูมิ ไม่สามารถสร้างและเก็บความร้อนในร่างกายได้ ส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส เป็นเหตุให้อวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมองทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้
โดยในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น พูดอ้อแอ้ เดินเซ งุ่มง่าม อ่อนเพลีย ง่วงซึม หงุดหงิด สับสน ความสามารถในการคิดและตัดสินใจน้อยลง หากอุณหภูมิร่างกายยังลดต่ำอย่างต่อเนื่องผู้ป่วยจะหยุดสั่น มีอาการเพ้อคลั่ง ไม่ค่อยรู้สึกตัว หมดสติและหยุดหายใจในที่สุด
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น “ภาวะตัวเย็นเกิน”
เมื่อพบผู้ที่มีอาการเข้าข่ายภาวะดังกล่าว ควรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจดูอาการและประเมินความรุนแรงของอาการ รวมทั้งวางแผนการรักษาในเบื้องต้น
นอกจากนี้ อาจมีการตรวจวัดอุณหภูมิด้วยอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำ เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการได้อย่างแน่ชัด ช่วยให้เริ่มต้นรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป เนื่องจากผู้ป่วยลักษณะนี้ แต่ละรายอาจมีอุณหภูมิร่างกายลดลงแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกาย
วิธีป้องกัน “ภาวะตัวเย็นเกิน”
1. สวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ห่มผ้าห่มหรือผ้านวมหนาๆ หรือผิงไฟให้ความอบอุ่น
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในน้ำเย็นหรือสวมเสื้อผ้าที่เปียกเป็นระยะเวลานาน
3. หลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสอากาศหนาวหรือลมหนาวนอกบ้าน หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นเพียงพอครอบคลุมศีรษะไปถึงหน้า และใส่ถุงมือถุงเท้า
4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนที่กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ
5. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อแก้หนาว เพราะจะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ความร้อนจะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ยิ่งดื่มมากอุณหภูมิในร่างกายก็ยิ่งลดลงมาก หากปล่อยให้อุณหภูมิต่ำลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายกล้ามเนื้อจะเกร็งตัวจนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะเซลล์สมองตายเนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด
6. ในช่วงที่อากาศหนาวเย็น คนใกล้ชิดควรดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีอุณหภูมิอบอุ่นเป็นปกตินั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค และ pobpad.com