xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกกัญชากับรัฐบาลชุดใหม่ เปิดใจให้กว้าง ชั่งน้ำหนักด้วยข้อเท็จจริงอย่างไม่มีอคติ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว แต่กัญชายังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างต่อเนื่อง จุดยืนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าขณะนี้ยังไม่นำกลับไปเป็นยาเสพติด แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าสุดท้ายแล้วจะมีการนำช่อดอกกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกหรือไม่?


ก่อนที่จะมีการตัดสินใจในเรื่องอนาคตกัญชาในวันข้างหน้า สมควรที่จะพิจารณากัญชาอย่างรอบด้าน นอกเหนือจากอคติที่มีความคิดแต่จะมีการโจมตีกัญชาแต่เพียงอย่างเดียว

และการที่จะตัดสินใจในนโยบายแห่งรัฐ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปรียบเทียบกับเหล้า บุหรี่ และยาบ้า ที่ทำลายทั้งสุขภาพและมีการระบาดหนักยิ่งกว่ากัญชาหลายเท่าตัว

ประการแรก จากงานวิจัยชัดเจนว่า การสูบช่อดอกกัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ แต่เหล้าและบุหรี่กลับสามารถหาซื้อได้อย่างง่ายดายตามร้านสะดวกซื้อ และยังพบว่ามีเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่ากัญชา

โดยงานวิจัยในปี 2554 เสนอผ่านวารสารการเสพติดยาและแอลกอฮอล์ Drug and Alcohol dependence เป็นงานวิจัยที่ศึกษากลุ่มประชากรขนาดใหญ่ โดยมีการสำรวจตัวอย่างผู้สูบบุหรี่ 15,918 คน, แอลกอฮอล์ 28,907 คน และกัญชาก็มีการสำรวจมากถึง 7,389 คนพบว่า นับตั้งแต่ใช้ครั้งแรกที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสจะเสพติดบุหรี่สูงสุด 67.5%, ครั้งแรกที่ดื่มเหล้ามีโอกาสติดเหล้าสูงสุด 22.7% และหากสูบกัญชาครั้งแรกจะมีโอกาสติดกัญชาสูงสุดเพียง 8.9%

กัญชามีโอกาสติดได้ 8.9% น้อยกว่าการติดเหล้า 2.5 เท่าตัว และน้อยกว่าบุหรี่ 7.5 เท่าตัว อีกทั้งเหล้ารวมทั้งบุหรี่สามารถซื้อขายได้ตามร้านค้าทั่วไปและร้านสะดวกซื้อ ทำไมเหล้าและบุหรี่ไม่ต้องทำให้เป็นยาเสพติด ไม่ต้องมีกฎหมายบังคับโดยตำรวจปราบปรามยาเสพติด หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรายาเสพติดแต่ประการใด

ประการที่สอง การดื่มสุราจน “เมาสุรา” มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย และมีโอกาสก่ออาชญากรรมได้มากกว่าการเมากัญชาอย่างเทียบกันไม่ได้เลยเพราะกัญชาหากบริโภคเกินจะทำให้เกิด “ความหวาดกลัว” และ “ทำให้นอนหลับ”

โดยผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2560 พบว่าคนไทยดื่มแอลกอฮอล์ 7.1 ลิตร/คน/ปี เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย คนที่ดื่มอายุน้อยที่สุดคือ 9 ปี โดยการดื่มสุราเป็นประตูไปสู่ปัญหาอย่างอื่นที่รุนแรงโดยผลการศึกษาเทียบกับนักเรียนที่ดื่มสุรากับนักเรียนที่ไม่ดื่มสุราพบว่า

“นักเรียนดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงในการพกพาอาวุธ 2.96 เท่า, นักเรียนดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงชกต่อยตบตีทะเลาะวิวาท 3.38 เท่า, คนที่ถูกแฟนของนักเรียนดื่มสุราตบตีทำร้ายโดยจงใจ 3.08 เท่า,

โดยเฉพาะเด็กเยาวชนดื่มเหล้ามีผลทำให้มีการกระทำที่รุนแรงรวมถึงคดีทำร้ายร่างกาย และโทรมหญิงถึงในระหว่างการดื่มแอลกอฮอลล์ 34.8% และมากกว่า 50% กระทำความผิดหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 5 ชั่วโมงซึ่งขณะทำผิดยังมีอาการมึนเมาด้วย”


คำถามมีอยู่ว่า “กัญชา”ซึ่งมีโอกาสติดยากกว่า “เหล้า” ประมาณ 2.5 เท่าตัว แต่กัญชากลับไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการ “ก่อความรุนแรง” หรือเสี่ยง “ก่ออาชญากรรม” เหมือนการติดเหล้าด้วย เราควรจะเป็นห่วงเรื่องอะไรมากกว่ากันระหว่าง “แอลกอฮอล์” หรือ “กัญชา”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงสุรานั้น “ง่ายกว่า” การเข้าถึงกัญชาอย่างเทียบไม่ได้เพราะอยู่ในร้านสะดวกซื้อทุกร้าน และอยู่หน้าโรงเรียน และศาสนสถานด้วย ทำไมสังคมจึงไม่ห่วงเรื่องสุราที่มีปัญหามากกว่ากัญชา

โดยผลการศึกษาพบบว่าคนไทยใช้เวลา 4.5 นาที ในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีระยะทางเฉลี่ย 342 เมตร อีกทั้งรอบสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานคร มีร้านจำหน่ายเฉลี่ยมากถึง 57 ร้านในทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถซื้อแอลกอฮอล์สำเร็จ 98.7%

ไม่เพียงแต่เรื่องของสุราต่อปัญหาที่มีต่อสังคมในมิติการง่ายต่อการเสพติด และการก่อปัญหาความรุนแรงทางสังคมเท่านั้น แต่สุรายังมีปัญหาทำลายต่อสุขภาพด้วยอย่างชัดเจน

ประการที่สาม เหล้าและบุหรี่ทำลายต่อสุขภาพในหลายมิติ ตรงกันข้ามกับกัญชาที่เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้หลายชนิด

สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ The International Agency for Research on Cancer (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลกได้ประมวลงานวิจัยสารก่อมะเร็งจากทั่วโลกนับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 59 ปี ได้ประกาศว่าพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุของมะเร็งประเภทที่ 1 ได้หลายอวัยวะ[4]

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิดเช่นกันได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุผิวของทางเดินอาหาร-อากาศส่วนบน มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้และทวารหนัก[4]

ความน่าสนใจคือ ตลอดระยะเวลา 58 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ The International Agency for Research on Cancer (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลก ยังไม่เคยพบหลักฐานที่เพียงพอที่ทำให้ “กัญชา” อยู่ในบัญชีรายการสารก่อมะเร็งหรือเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้เลย

นอกจากนั้น ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ กลุ่มสาขาวิชาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปเอาไว้เป็นบทความ “โรคยอดฮิตจากฤทธิ์แอลกอฮอล์” ได้แก่

กลุ่มโรคระบบสมองและระบบประสาท ได้แก่ โรคสมองเสื่อม และการพัฒนาสมองบกพร่อง ประสาทหลอน และระบบประสาทเสียสมดุล โรคซึมเศร้า ชาตามปลายนิ้วมือ-นิ้วเท้า

กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง

กลุ่มระบบทางเดินอาหารและตับ ได้แก่ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคตับแข็ง โรคไขมันพอกตับ โรคมะเร็งตับ

กลุ่มโรคเรื้อรังและความผิดปกติอื่น ๆ โรคเบาหวาน โรคเกาต์ โรคพิษสุราเรื้อรังต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ ทำให้การหลั่งฮอร์โมนผิดปกติขาดสารอาหาร

โดยคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มถึง 1.2-5 เท่า และเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียงมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม

แต่ตรงกันข้ามกับกัญชาที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ อาการป่วยดีขึ้นถึงดีขึ้นมาก และลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน

กัญชามีบทบาทต่อการส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้รายงานผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง ช่วงปี 2563-2564 พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับกัญชานอกระบบของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 94 และมีประชาชนใช้กัญชานอกเหนือข้อบ่งใช้ในโรคต่างๆ นอกเหนือการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ส่วนใหญ่ใช้อย่างผิดกฎหมาย เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้จ่ายกัญชา

แต่ผลการศึกษาพบว่าหลังใช้กัญชาโรคที่เป็นมีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากถึงร้อยละ93นอกจากนั้นผู้ที่ใช้กัญชาลดและเลิกยาแผนปัจจุบันได้ถึงร้อยละ 58 ซึ่งแปลว่าน่าจะมีผู้เสียผลประโยชน์จากยอดขายยาแผนปัจจุบันที่ตกลงด้วย

สอดคล้องกับวารสารห้องสมุดสาธารณะทางด้านวิทยาศาสตร์ PLoSOne ได้เผยแพร่ งานวิจัยในมลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย (ทั้งทางการแพทย์และนันทนาการ) ในช่วง 22 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2562 พบว่า “ยอดขายยาโดยรวมลดลง”

โดยกฎหมายที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลทำให้ยอดขายต่อปีของผู้ผลิตยา “ลดลง”ปร ะมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีโดยเฉลี่ย และยังคาดการณ์อีกด้วยว่า 16 มลรัฐที่เหลือที่ยังไม่ได้ทำให้กัญชาถูกกฎหมายหากทำให้กัญชาถูกกฎหมายแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันต่างๆ ลดลงไปประมาณร้อยละ 11

เช่นเดียวกับวารสารเศรษฐกิจสุขภาพ Health Economics ฉบับตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ในการสำรวจการจ่ายยาในมลรัฐของสหรัฐอเมริกาหลังได้ดำเนินการให้ “การนันทนาการเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” พบว่ามี การลดการจ่ายยาต่างๆ ลง คือประชากรใช้ยาแก้อาการซึมเศร้าลดลงไปร้อยละ 11.1, ประชากรใช้ยาแก้วิตกกังวลลดลงไป 12.2, ประชากรลดการใช้ยาแก้ปวดไปร้อยละ 8, ประชากรลดการใช้ยาโรคลมชักไปร้อยละ 9.5, ประชากรลดยาโรคจิตไปร้อยละ 10.7, ประชากรลดการใช้ยานอนหลับไปร้อยละ 10.8


นอกจากนั้นการสำรวจทางระบาดวิทยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า คนอเมริกันที่บริโภคกัญชามีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน “น้อยกว่า” คนที่ไม่ได้ใช้กัญชา คิดเป็น2.4 เท่า โดยคนที่ไม่เคยใช้กัญชาเลยเปนเบาหวาน ร้อยละ 8.7 ในขณะที่คนที่ใช้กัญชา 1-4 ครั้งต่อเดือน เป็น เบาหวาน ร้อยละ 4.2 และคนที่ใช้กัญชาตั้งแต่ 5 ครั้งต่อเดือนขึ้นไป เป็นเบาหวาน เพียงร้อยละ 3.2[9]

กัญชายังช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด โดยการวิจัยเรื่อง การใช้กัญชากับการโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ ในประเทศอังกฤษ พบว่าคนที่เคยใช้กัญชาเป็นโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ (ไตและต่อมลูกหมาก) “น้อยกว่า” คนที่ไม่เคยใช้กัญชาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนี้ มะเร็งต่อมลูกหมาก: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากร้อยละ 4, คนที่เคยใช้กัญชาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพียงร้อยละ 2 หรือต่างกัน 2 เท่า; มะเร็งไต: คนที่ไม่เคยใช้กัญชา เป็นมะเร็งไต ร้อยละ 0.16, คนที่เคยใช้กัญชา เป็นเพียง ร้อยละ 0.08 หรือต่างกัน 2 เท่า[10]

อย่างไรก็ตาม “กัญชา” ไม่เพียงติดได้ยากกว่า “แอลกอฮอล์” เท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม “กัญชายังอาจจะมีโอกาสส่วนช่วยในการลดการดื่มแอลกอฮอล์”ได้ด้วย

โดยงานวิจัยตีพิมพ์ในเว็บไซต์ Sciencedirect ผ่านวารสารเกี่ยวกับนโยบายยาระหว่างประเทศชื่อว่า International Journal of Drug Policy ฉบับเดือนธันวาคมพ.ศ. 2563 ซึ่งได้เผยแพร่งานวิจัยของคณะวิจัยชาวแคนนาดา พบว่าผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ในแคนนาดานั้นมีแนวโน้มที่จะลดการดื่มสุราลงด้วย

โดยผลสำรวจพบว่าผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ประมาณ 44% ลดความถี่ในการดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 30 วัน, อีกประมาณ 34% ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์จากมาตรฐานที่เคยดื่มในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา, และประมาณ 8% ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยตลอด 30 วันที่ผ่านมา

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวสรุปความเอาไว้อย่างชัดเจนว่า

“คำแนะนำจากการค้นพบของพวกเราพบว่าการเริ่มใช้กัญชาทางการแพทย์อาจสัมพันธ์กับการลดและการเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ โดยที่แอลกอฮอล์คือสิ่งมีการใช้เพื่อนันทนาการอย่างชุกชุมที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ และการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการก่ออาชญากรรม อัตราการป่วย และอัตราการเสียชีวิต การค้นพบครั้งนี้อาจจะช่วยทำผลลัพธ์ต่อสุขภาพดีขึ้นในกลุ่มผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ ควบคู่ไปกับการทำให้การสาธารณสุขและความปลอดภัยของสาธารณะโดยภาพรวมดีขึ้น”

งานวิจัยที่นำเสนอจากประเทศแคนนาดาคาดหวังต่อกัญชาในการลดการดื่มแอลกออล์และนำไปสู่การก่อความรุนแรงและลดอาชญากรรมในสังคมนั้น ยังได้ปรากฏตัวอย่างกรณีศึกษามาแล้วที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีการให้ใช้กัญชาจัดให้เป็น“ยาอ่อน”(Soft drug) ทั้งพื้นที่ทางการแพทย์และนันทนาการ เพื่อไปลดยาเสพติดที่ส่งผลกระทบรุนแรง(Hard Drug) และนำไปสู่การลดปัญหาการก่ออาชญากรรมในท้ายที่สุด จนกระทั่ง “คุกร้าง” และประเทศเนเธอร์แลนด์ถึงขั้นต้องมีการนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ

คงไม่ต้องพูดถึงกรณีศึกษามากมายว่า กัญชาทำให้คนลดอาการติดยาบ้าได้จำนวนมากอีกด้วย

ส่วนกรณีเด็กและเยาวชนที่ลักลอบการใช้กัญชานั้น เป็นสิ่งที่ “ผิดกฎหมายอยู่แล้ว” คงเหลือแต่การบังคับใช้กฎหมาย และเพิ่มบทลงโทษผู้ที่จำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชนให้หนักขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้าเทียบจำนวน “เด็กและเยาวชนลักลอบใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมาย” คงจะเทียบไม่ได้กับจำนวน เด็กและเยาวชนที่ลักลอบสูบบุหรี่และดื่มเหล้าอย่างผิดกฎหมาย เพราะการเข้าถึงต่างกันอย่างมาก

และถ้าเทียบ “จำนวน” ผู้ที่ได้ประโยชน์ในประเทศไทยในด้านการรักษาโรคและสุขภาพหลายล้านคน คงเทียบไม่ได้กับจำนวน “เด็กและเยาวชน”ที่มักถูกนำเป็นข้ออ้างและตัวประกันด้วยเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น โดยไม่เคยพิจารณาการชั่งน้ำหนัก“จำนวน”ในส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อประชาชนที่มากกว่ามาก จริงหรือไม่?


ทางออกที่ดีที่สุด คือการเปิดข้อมูลอย่างไม่มีอคติ เปิดข้อมูลอย่างไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากผลประโยชน์กับธุรกิจยาและกลุ่มทุนทางการแพทย์ ส่วนใดที่เป็นปัญหาก็มีมาตรการและบทลงโทษให้หนัก ส่วนใดที่เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์และสุขภาพของประชาชนต้องปล่อยให้เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
18 ตุลาคม 2566


กำลังโหลดความคิดเห็น