เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาวทีไร นอกจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังมีเรื่อง “โรคไข้หวัดใหญ่” ให้ต้องระวังอีกด้วยเช่นกัน
โรคไข้หวัดใหญ่มีกี่สายพันธุ์
โรคไข้หวัดใหญ่ในคนนั้น มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ เอ, บี และ ซี แต่มีเพียงสายพันธุ์ เอ และ บี ที่มีการระบาดโดยทั่วไป
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ แบ่งออกเป็นหลายซัปไทด์ แต่ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ส่งผลอาการที่รุนแรงที่สุด
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี แบ่งออกเป็น 2 สายย่อย คือ Victoria และ Yamagata แต่อาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เอ
สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บีนั้น เป็นไข้หวัดตามฤดูกาล โดยส่วนมากจะระบาดในช่วงฤดูหนาว เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะเจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็น ซึ่งมีการพบมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม และมกราคม รวมถึงในช่วงที่อากาศหนาวเย็น อุณหภูมิลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว และสามารถพบได้ทุกช่วงวัย
แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่มีความเสี่ยง ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ
-ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบ หืด โรคหัวใจ โรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
-เด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี
-ผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์
-ผู้ที่มีดัชนีมวลกายเยอะ หรือโรคอ้วน ซึ่งถ้าหากเป็นไข้หวัดใหญ่ก็มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงกว่าปกติ
อาการสังเกต
สำหรับอาการของไข้หวงัดใหญ่นั้น จะเริ่มหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1 - 4 วัน โดยผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่จะมีไข้แบบทันทีทันใด 38 องศา แต่สำหรับเด็กเล็กไข้มักจะสูงกว่า
โดยอาการโดยทั่วไป มีดังนี้
1. ปวดศีรษะ
2. มีอาการหนาวสั่น
3. ปวดเมื้อยกล้ามเนื้อ
4. อ่อนเพลียมาก และอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ
5. ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ ส่งผลให้อาการรุนแรง และป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1 - 2 สัปดาห์
การป้องกัน “ไข้หวัดใหญ่”
-ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย
-ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
-หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
-ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
-ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลจุฬารัตน์อินเตอร์ 3 และ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย