xs
xsm
sm
md
lg

เช็กความผิดปกติร่างกายจาก “กลิ่นปาก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กลิ่นปาก” เป็นปัญหาที่หลายคนไม่อยากพบเจอ เพราะทำให้เสียความมั่นใจ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาดหรือไม่ดีเพียงพอ แต่จริง ๆ แล้ว กลิ่นปากเกิดจากหลายสาเหตุปัจจัย ได้แก่ ไม่ว่าจะเกิดจากเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามซอกฟัน การดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพเหงือกและฟัน การรับประทานบางชนิด การดื่มน้ำน้อย การสูบบุหรี่ ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วกลิ่นปากยังบอกโรคอื่น ๆ ได้อีก เช่น

1.โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน


เริ่มตั้งแต่จมูก คอ ไปจนถึงหลอดลม เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งเกิดจากมีของเหลวหรือหนองขังอยู่ในโพรงอากาศของกระดูกใบหน้า จนเกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นปากและลมหายใจที่เหม็นได้

2.โรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง


อย่างโรคปอด ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง วัณโรค หรือมะเร็งที่ปอด มักจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ปะปนออกมากับลมหายใจและลมปากได้เช่นกัน

3.โรคทอนซิลอักเสบ


ในขณะที่มีอาการเจ็บคอ อักเสบในลำคอ หรือเจ็บทอนซิล ทอนซิลอักเสบ ก็ส่งผลให้มีกลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจได้ โดยกลิ่นดังกล่าวจะหายไปต่อเมื่ออาการเจ็บป่วยหายนั่นเอง

4.โรคที่เกิดจากระบบการย่อยอาหาร

อาจเกิดได้จากหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีหนอง อาจมีกลิ่นออกมาขณะพูดหรือเรอได้ นอกจากนี้แล้วคนที่มีระบบย่อยอาหารไม่ดี อาหารไม่ย่อย ระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องผูกบ่อย ๆ ก็เป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน

12 วิธี ลดปัญหาเรื่องกลิ่นปาก


1. อย่าปล่อยให้ปากแห้ง เพราะปากแห้งจะทำให้ความเข้มข้นของแบคทีเรียในปากเพิ่มมากขึ้น
2. ดื่มน้ำมาก ๆ ช่วยล้างแบคทีเรียออกจากน้ำลาย
3. แปรงฟันหลังอาหารทุกครั้ง และต้องแปรงด้านบนของลิ้น เพราะส่วนนั้นเป็นที่เกิดของแบคทีเรีย
4. ใช้ไหมขัดฟันวันละ 2-3 ครั้ง
5. ถ้าไม่สะดวกแปรงฟัน ให้บ้วนด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำยาบ้วนปาก
6. เคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล
7. เคี้ยวใบผักชีฝรั่งหรือกานพลูหลังทานอาหาร
8. งดอาหารกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หอมใหญ่ พริกไทย และเนยแข็ง
9. หลีกเลี่ยงการดื่มการ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
10. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
11. เลิกสูบบุหรี่
12. ตรวจสุขภาพฟันสม่ำเสมอ

หากรู้ตัวว่าเริ่มมีกลิ่นปากหรือกลิ่นลมหายใจแปลก ๆ ควรสังเกตตัวเองและทำการแก้ไข หากแก้ไขแล้วกลิ่นไม่พึงประสงค์ก็ยังอยู่ หรือไม่ลดน้อยลงไปจากเดิม แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ เพราะกลิ่นปากที่ส่งออกมาอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายได้

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลเปาโล (https://shorturl.asia/fwL3l)

ข่าวโดย : พันนา วงศ์ใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น