xs
xsm
sm
md
lg

"หมูกระทะ" ของอร่อยที่มาพร้อมความเสี่ยง เคล็ดลับกินยังไงไม่ทำลายสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักหมูกระทะ และเชื่อแน่ว่าต้องเป็นเมนูโปรดของใครหลายคน เพราะเป็นร้านอาหารที่หากินง่ายและสามารถรับประทานได้หลายโอกาส เช่น วันหยุด เรียนจบ เงินเดือนออก หรือนัดเจอเพื่อน ๆ ถึงแม้ว่าหมูกระทะจะอร่อย แต่การกินบ่อย ๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้

โรคที่อาจเกิดจากการกินหมูกระทะ ได้แก่

1. โรคไข้หูดับ

เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีแบคทีเรียที่ชื่อว่า “สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส” ที่มีอยู่ในหมูทุกตัว เดิมทีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่หากหมูเกิดมีอาการป่วยหรือร่างกายอ่อนแอขึ้นมา เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนจนทำให้หมูป่วยและตาย ซึ่งหากมนุษย์ได้ไปรับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย โดยการกินหมูที่ยังไม่สุกดี หรือ การใช้ตะเกียบร่วมในการคีบหมูดิบ และหมูสุก ก็จะเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน

2. อาหารเป็นพิษ

ภาวะอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเข้าไป หรือแม้แต่การรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มากเกินไป ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องและท้องเสียถ่ายเหลวตามมา

3. โรคอ้วน

เพราะการกินหมูกระทะบ่อย ๆ นั้น อาจทำให้เกิดไขมันส่วนเกินตามมา เจ้าไขมันส่วนเกินนี้ก็จะไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และทำให้รูปร่างไม่สมส่วนตามมาได้

4. โรคมะเร็ง

โรคมะเร็ง เกิดจากการสะสมการกินอาหารที่ไหม้เกรียมเป็นจำนวนมาก ๆ เข้าไป รวมทั้งการกินอาหารไขมันสูง 

5. โรคไขมันในเส้นเลือดอุดตัน

โรคไขมันในเส้นเลือดอุดตัน เกิดจากการสะสมของไขมันเลวในเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนโลหิตไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ แล้วทำให้อุดตันเส้นเลือดได้ หากเป็นเส้นเลือดสำคัญ ๆ ของร่างกายก็นำไปสู่สาเหตุของการเสียชีวิตได้เลย

6. โรคไต

โรคไตนั้นก็เกิดมาจากลักษณะนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการกินอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป โดยในเมนูหมูกระทะ โซเดียมมักเป็นแร่ธาตุอาหารที่ปะปนอยู่ในสิ่งปรุงรสทั้งผงชูรส น้ำจิ้ม น้ำซุป เครื่องหมักเนื้อสัตว์ต่าง ๆ 

7. ท้องอืด-ท้องผูก

อาการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการกินมื้อหนัก นั่นก็คือ อาการท้องอืด-ท้องผูก เกิดจาก การกินเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก และกินผักน้อย แก้ไขได้โดย กินแต่พออิ่ม และในระหว่างมื้อควรกินผักเพื่อเพิ่มไฟเบอร์ ให้ขับถ่ายสะดวก
หมูกระทะถ้ากินเยอะก็มีผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คิด แต่เราก็มีเคล็ดลับการกินว่ากินอย่างไรไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพื่อให้เราสามารถกินหมูกระทะได้อย่างมีความสุข และลดการเกิดโรคต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด


เคล็ดลับการกินหมูกระทะ กินอย่างไรไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

1. เลือกความหลากหลายแทนปริมาณ

ในการกินหมูกระทะเรามักติดกับการกินในปริมาณมาก ๆ ไว้ก่อน ซึ่งนี่ก็เป็นผลทำให้ร่างกายของเราอึดอัดตามมาได้ แต่หากต้องการกินหมูกระทะพร้อม ๆ ไปกับการมีสุขภาพที่ดี ควรเลือกกินให้หลากหลาย ซึ่งนับเป็นความคุ้มค่าในรูปแบบหนึ่งแทนที่จะกินให้ได้ปริมาณเยอะ ๆ

2. เลือกกินสลับระหว่างผักกับเนื้อ

ในระหว่างการกินหมูกระทะ หลาย ๆ คนคงจะติดนิสัยที่จะกินเฉพาะเนื้อเพราะเห็นว่าคุ้มค่า แต่อันที่จริงการกินหมูกระทะให้ดีต่อสุขภาพนั้น ควรกินผักผสมไปด้วย เพราะผักมีไฟเบอร์ที่ช่วยในการย่อยในระบบทางเดินอาหาร กินง่าย ถ่ายคล่อง และลดอาการท้องผูก

3. เลือกดื่มน้ำเปล่า หรือชาเขียว

การดื่มน้ำเปล่าหรือชาเขียวไม่หวาน แทนน้ำอัดลม จะช่วยลดการเกิดแก๊ส หรือ กรดเกินที่อาจเกิดขึ้นในกระเพาะอาหารได้ ทำให้ระหว่างมื้ออาหารไปจนจบมื้ออาหาร ไม่รู้สึกแน่นท้อง อึดอัด หรือปวดท้องนั่นเอง

4. ใช้ตะเกียบกินแยกกับตะเกียบปิ้ง

การปิ้งหมูกระทะโดยใช้ตะเกียบเดียวกับตะเกียบที่ใช้กินนั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้หูดับเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังเสี่ยงที่จะเป็นภาวะอาหารเป็นพิษด้วย ดังนั้นควรใช้ตะเกียบแยกของดิบและของสุกออกจากกัน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของตัวท่านเอง

5. หยุดกินเมื่ออิ่ม

เมื่ออิ่มแล้ว ควรหยุดกิน เพื่อให้ร่างกายได้รับอาหารที่พอดี ไม่ควรฝืนกินมากเกินไปเพียงเพราะอยากกิน หรือแค่เสียดายและกลัวไม่คุ้มค่า เพราะนั่นจะทำให้เกิดอาการจุกแน่นหรือเกิดภาวะโรคอ้วนได้

6. ไม่ตักอาหารมาเกินความพอดี

การกลัวโดนปรับ หรือ การหยิบตักอาหารมามากเกินพอดีนั้นเป็นหลุมพลางที่ทำให้เราต้องกินอาหารที่มากเกินตามไปด้วย ดังนั้นควรค่อย ๆ สั่ง เพื่อประเมินความอิ่ม และไม่ควรวู่วามสั่งหรือตักอาหารทุกอย่างด้วยอารมณ์หิวอันขาดสติ

7. ลดปริมาณน้ำจิ้ม

น้ำจิ้มเป็นแหล่งของโซเดียมที่ทำให้เกิดโรคภัยและความไม่สมดุลต่าง ๆ ภายในร่างกาย การกินหมูกระทะเพื่อสุขภาพจึงควรลดปริมาณน้ำจิ้มลงด้วย

ถึงแบบนั้น เราก็ไม่ได้หมายความว่าหมูกระทะนั้นไม่ดี หรือจะกินไม่ได้อีกต่อไป เพียงแต่ก่อนกินลองนำเคล็ดลับหรือทริกดี ๆ ที่เราได้กล่าวไปข้างต้นนำไปใช้ควบคู่ ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเองกันนะครับ

ข่าวโดย : พันนา วงศ์ใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น