เชื่อได้เลยว่า เกือบทุกคนจะต้องมีปัญหาในเรื่องของสายตาในการทำงาน อาจจะทางใดทางหนึ่งก็แล้วแต่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่ามนุษย์ออฟฟิศที่จะต้องพบเจอ ‘ภาวะตาล้า’ นั่นเพราะอาจจะมีการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่บ่อยๆ ซึ่งหากไม่ทำการดูและให้ดี ก็อาจจะทำให้ดวงตาของแต่ละคนนั้น มีปัญหาได้เช่นเดียวกัน
“ภาวะตาล้า” คืออะไร
ภาวะตาล้า หรือ Asthenopia คือ อาการที่ดวงตาอ่อนล้าจากการผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก หรือมีการใช้สายตาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาการดังกล่าวนี้ ไล่ระดับอาการเบื้องต้น ตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงแก่ชีวิต แต่จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ อาการดังกล่าวยังอาจกระตุ้นให้เกิดอาการต่างๆ ทั้งปวดหัว เหนื่อยล้า เวียนศีรษะ บ้านหมุน และปวดไมเกรนได้ด้วย ซึ่งโดยปกติอาการเหล่านี้มักไม่เป็นอันตราย แต่หากอาการรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม
สาเหตุของ “อาการตาล้า”
สำหรับสาเหตุของอาการตาล้านั้น เกิดจากการใช้สายตาต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน โดยอาจพบได้บ่อยขณะอ่านหนังสือ ขับรถ ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ขณะใช้สมาร์ทโฟน อยู่ในที่แสงจ้า ใช้สายตาในที่มืดหรือแสงน้อย ทำงานที่ต้องใช้เพ่งสายตาตลอดเวลา หรือดวงตาสัมผัสกับลมจนทำให้ตาแห้ง นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะตาแห้ง ผู้ที่มีค่าสายตาผิดปกติ หรือกระจกตามีปัญหาก็อาจเกิดอาการนี้ได้เช่นกัน
“อาการตาล้า” มีอะไรบ้าง
-มีการปวดตา กระบอกตา หรือบริเวณรอบๆดวงตา
-มีภาวะตาแห้ง
-เกิดการระคายเคืองตา คันตา หรือ แสบตา
-มักมีน้ำตาไหลออกมาบ่อยๆ
-มีอาการตาล้า ตาเบลอ มองไม่ชัดเจน
-ดวงตามีความไวต่อแสง
-มองเห็นภาพซ้อนกัน
-บางรายอาจมีอาการอื่นๆเพิ่มเติมร่วมด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ เกิดอาการปวดไมเกรน รู้สึกอยากอาเจียน ภาวะบ้านหมุน กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก หรือปวดคอ บ่า ไหล่
การป้องกัน “อาการตาล้า”
สำหรับอาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
-จำกัดเวลาในการใช้สายตา อย่างการอ่านหนังสือ ทำงาน หรือเล่นสมาร์ทโฟน และควรพักสายตาอย่างน้อย 20 วินาที ทุก ๆ 20 นาที
-ทำการกะพริบตาบ่อย ๆ จะช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้น
-หลีกเลี่ยงการใช้สายตาในที่มืดหรือแสงน้อย รวมทั้งปรับแสงให้เหมาะสมกับการทำงานหรือกิจกรรมนั้น ๆ
-การใช้คอมพิวเตอร์ควรให้สายตาอยู่ห่างจากหน้าจอในระยะ 20-26 นิ้ว รวมทั้งปรับแสงและระดับของหน้าจอให้เหมาะกับการมองเห็น ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป
-ควรสวมแว่นตาที่เหมาะสมกับการใช้งาน อย่างแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือ แว่นตากันแดด หรือแว่นตาสำหรับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
-ใช้อุปกรณ์กรองแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์
-หลีกเลี่ยงการนั่งหน้าพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่ทำให้ดวงตาสัมผัสกับลมโดยตรง เพื่อป้องกันอาการตาแห้ง
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารบำรุงสายตา อย่างปลาทะเล ไข่ ถั่ว ส้ม มะนาว และผักใบเขียว ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของอาการล้าได้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการตาล้าต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน แต่ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช และ pobpad.com