หลายคนคงทราบดีว่าการรับประทานผักนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ ฯลฯ แต่รู้หรือไม่ว่า ผักบางชนิดหากกินดิบ ๆ และกินในปริมาณมาก ๆ ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ว่าแต่จะมีผักชนิดใดบ้างที่ไม่ควรกินดิบ?
1. หน่อไม้
ผักเหล่านี้ห้ามรับประทานดิบเด็ดขาด เนื่องจากมีสารไซยาไนด์ (Cyanide) ซึ่งหากบริโภคในปริมาณมากสารนี้จะไปจับเม็ดเลือดแดงทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นควรนำไปต้มในน้ำเดือดประมาณ 10 นาทีก่อนเพื่อลดปริมาณสารดังกล่าว
2. มันฝรั่ง
มันฝรั่งเป็นพืชที่ไม่ควรกินดิบโดยเด็ดขาด ก่อนกินต้องผ่านความร้อนก่อน เนื่องจากในมันฝรั่งดิบจะมีสาร “โซลานีน” สารพิษไกลโคแอลคาลอยด์ เป็นสารที่พืชสร้างมาเพื่อปกป้องตัวเองจากแมลงศัตรูพืช หากคนกินเข้าไปในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น ใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ควรทำให้สุกด้วยความร้อนจัดก่อนนำมาบริโภค
3. มันสำปะหลัง
ในมันสำปะหลัง มีสารไซยาไนด์ (Cyanide) เช่นเดียวกับหน่อไม้ ซึ่งหากบริโภคในปริมาณมากสารนี้จะไปจับเม็ดเลือดแดงทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรปอกเปลือก และปรุงให้สุกด้วยความร้อนก่อนรับประทาน
4. ถั่วงอก
เนื่องจากการเจริญเติบโตของถั่วงอกต้องอาศัยความชื้นในการเจริญเติบโต จึงมีความเสี่ยงสูงจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งยังมีสารฟอกขาว เป็นสารเคมีกลุ่มซัลไฟต์ หากรับประทานสารเคมีในกลุ่มนี้มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการหายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง บางรายที่แพ้อาจเกิดลมพิษ ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้
5. ถั่วฝักยาว
เพราะอาจทำให้ท้องอืด โดยเฉพาะในคนที่มีปัญหาเรื่องการย่อย และกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งมีโอกาสในการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงที่ใช้ในการเพาะปลูกสูง
หากจะรับประทานต้องล้าง และแช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 5-10 นาที เพื่อลดปริมาณสารเคมีที่ปนเปื้อน
6. กะหล่ำปลี
กะหล่ำปลีดิบไม่ควรรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่มีภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ต่ำกว่าปกติ (Hypothyroidism) เนื่องจากในกะหล่ำปลีมีสารที่ชื่อว่า กอยโตรเจน (Goitrogen) โดยสารนี้จะไปยับยั้งการนำไอโอดีนไปใช้ในการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมน ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานได้ลดลงไปอีก ซึ่งกอยโตรเจน (Goitrogen) สามารถถูกทำลายโดยการผ่านความร้อนได้
7. บรอกโคลี
พืชตระกูลเดียวกันกับกะหล่ำปลี มีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งจะทำให้ร่างกายใช้ไอโอดีนได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งยังทำให้ท้องอืด ดังนั้นก่อนจะรับประทานจะนำมาผ่านความร้อน ทำให้สุกก่อน
8. ผักโขม
ผู้ที่มีภาวะการขาดธาตุเหล็ก และแคลเซียม ไม่ควรรับประทานตอนดิบ เนื่องจากผักโขมจะมีกรดออกซาลิก (Oxalic Acid) ซึ่งจะไปยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก และแคลเซียมจากอาหาร ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ