หลาย ๆ คน ก็คงมีนิสัยที่ชอบดื่มน้ำอยู่แล้ว อาจจะเป็นเพราะว่า การดื่มน้ำบ่อย ๆ จะช่วยให้สุขภาพดี แต่ในขณะเดียวกัน ผลกระทบที่ตามมาก็คือ อาจจะมีการปัสสาวะบ่อย ๆ ตามมาเป็นธรรมดา ซึ่งรู้หรือไม่ว่า การมีภาวะดังกล่าวนั้น ก็สามารถที่จะเป็นโรคได้ด้วยเช่นเดียวกันนะ
สาเหตุของภาวะ “ปัสสาวะบ่อย”
สำหรับสาเหตุของภาวะปัสสาวะบ่อยนั้น โดยรวมแล้วยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด แต่ก็จะสรุปได้คร่าวๆ ว่า อาจจะมีบางอย่างรบกวนการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งโดยทั่วไป มักจะเกี่ยวข้องกับระบบประสาทควบคุมที่ทำให้มีการบีบตัวไวเกินไป แต่อย่างไรก็ตามอาจมีโรคอื่นที่ไม่ใช่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
ซึ่งในกรณีที่มีการพบแพทย์ ทางคุณหมอก็จะทำการตรวจหาโรคอื่นก่อน เช่น
-ตรวจอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะว่ามีหรือไม่
-ตรวจว่ามีเม็ดเลือดแดงปนอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่
-ตรวจเลือดหาความผิดปกติ และตรวจดูการทำงานของไตว่ามีความบกพร่องหรือมีการกลั่นปัสสาวะบ่อยเกินไปหรือไม่
โดยการตรวจดังกล่าวนี้นั้น อาจต้องให้คนไข้จดบันทึกว่าภายใน 24 ชั่วโมง มีการดื่มน้ำเท่าไร ดื่มน้ำชนิดไหนบ้าง เช่น น้ำเปล่า น้ำส้ม กาแฟ เป็นต้น และดื่มในปริมาณเท่าไร มีการถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง เวลาไหนบ้าง มีอาการอื่นร่วมหรือไม่ เพื่อทำการประเมินต่อไป
สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการจดบันทึกคือ 3 วัน จากนั้นแพทย์จะประเมินจากข้อมูลเหล่านั้น เพื่อหาสาเหตุของการขับถ่ายปัสสาวะที่บ่อยกว่าคนปกติ เพราะในผู้ป่วยบางรายพบว่ามีพฤติกรรมดื่มน้ำบ่อยทั้งที่ร่างกายยังไม่ทันขาดน้ำ อาจเกิดจากอาการคอแห้งบ่อย ก็เป็นสาเหตุให้ปัสสาวะบ่อยกว่าคนปกติได้ หรือบางคนชอบทานผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากก็ทำให้ปัสสาวะบ่อยได้เช่นกัน
ทั้งนี้ก็ต้องรู้ก่อนว่าคนไข้มีพฤติกรรมอย่างไร จึงจะทำการรักษาได้ถูกจุด หากพบว่าเป็นที่พฤติกรรมก็ต้องให้คนไข้ปรับพฤติกรรมตนเอง และอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากภาวะบีบตัวไวเกินไปของกระเพาะปัสสาวะ และสังเกตได้ว่าการขับถ่ายแต่ละครั้งมีปริมาณที่สมเหตุสมผล
อาการ
สำหรับอาการของการปัสสาวะบ่อยนั้น อาจจะมีการสังเกตได้ง่ายๆ คือ โดยปกติภายใน 24 ชั่วโมง คนเราจะปัสสาวะอย่างน้อย 6-8 ครั้ง และช่วงกลางคืนเราจะปัสสาวะเพียง 1-2 ครั้ง แต่ถ้าหากมากกว่านี้ โดยเฉพาะถ้าช่วงกลางคืนปัสสาวะมากมักบ่งชี้ถึงโรคบางอย่างมากกว่า ปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางวัน เพราะปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางวัน มักเกิดจากการดื่มน้ำมาก ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีนมากเกินไป ซึ่งถ้าไม่มีสาเหตุที่กล่าวมาควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
ส่วนอาการแบบไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ มีดังนี้
-ปัสสาวะมีเลือดปนหรือปัสสาวะขุ่น
-ปัสสาวะมีสีแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม
-มีอาการเจ็บขณะปัสสาวะ
-มีอาการเจ็บปวดที่บริเวณท้องน้อย หรือมีก้อนที่ท้องน้อย
-ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะไม่ออกต้องเบ่ง
-มีปัญหาเกี่ยวกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
-มีไข้ร่วมด้วย
ผลกระทบจากภาวะปัสสาวะบ่อย
ถ้าถามว่าผลกระทบจากการปัสสาวะบ่อยคืออะไร คำตอบคือ อาจจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสบางอย่างในชีวิต เช่น
-การเดินทางไปในบางที่ก็อาจไม่กล้าไป เพราะกลัวจะปวดปัสสาวะระหว่างเดินทาง ไปได้เฉพาะสถานที่เดิม ๆ ที่รู้ว่าห้องน้ำอยู่ไหน และอาจต้องวางแผนเตรียมการล่วงหน้าว่าเมื่อปวดจะสามารถวิ่งไปทิศไหนเพื่อเข้าห้องน้ำได้เร็วที่สุด
-อาจทำให้เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่อยากเข้าสังคม ที่กลายเป็นปัญหาระยะยาวและส่งผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้
-หากในผู้สูงอายุมีภาวะดังกล่าวแล้วลูกหลานไม่เข้าใจ อาจถูกทิ้งไว้ที่บ้าน
-หรือจะไปไหนสักครั้งก็ต้องสำรองเสื้อผ้าไว้เยอะๆ เพื่อรองรับการสับเปลี่ยนเมื่อปัสสาวะราด ส่งผลกระทบจิตใจอย่างเห็นได้ชัด ส่วนร่างกายอาจมีผื่นหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นต้น
แม้ว่าภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไป ไม่อันตรายถึงชีวิต เพียงแต่จะรบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของแต่ละท่านด้วย จึงจะประเมินได้ว่ากระทบมากน้อยแค่ไหน หากรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตมาก ๆ ก็ควรเข้ารับการรักษา ซึ่งในการรักษา แพทย์จะทำการตรวจดูก่อนเพื่อแยกเอาโรคอื่นออกไป โดยเฉพาะโรคที่อาการคล้าย ๆ กัน เช่น โรคเบาหวาน เนื้องอกในสมอง เป็นต้น ซึ่งหากพบเจอโรคเหล่านี้ก็จะทำการรักษาโรคดังกล่าว แล้วภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไปก็จะหายไปเอง แต่ถ้าหากตรวจไม่พบโรคอะไรเลย จึงจะทำการรักษาอาการบีบตัวไวเกินไปของกระเพาะปัสสาวะตามลำดับ ที่อาจเกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น การรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
วิธีการรักษา “ภาวะปัสสาวะบ่อย”
หากพบว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมดังกล่าวก็ต้องให้คนไข้งดอาหารเหล่านั้น หรือการดื่มน้ำบ่อยในคนไข้บางราย ถ้าพบว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้ต้องให้คนไข้ปรับการดื่มน้ำ จากที่ดื่มตลอดทั้งวันก็ต้องเปลี่ยนไปดื่มเป็นช่วง ๆ โดยเฉพาะในผู้หญิงก็อาจต้องฝึกฝนการขมิบ ช่วยบรรเทากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปได้เช่นกัน
นอกจากนี้การรับประทานยาเพื่อรักษาก็เป็นอีกหนึ่งวิธี ในกรณีที่ปรับพฤติกรรมแล้วไม่สำเร็จก็ต้องใช้ยา แต่ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถทานยาได้จากภาวะบางอย่าง แพทย์ก็จะใช้วิธีการฉีดยาบางอย่างเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อปรับสมดุลเส้นประสาท หากไม่ได้ผลอาจต้องใช้การผ่าตัด การใช้ไฟฟ้ากระตุ้น หรือกรรมวิธีที่มากขึ้นตามลำดับนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : Rama Channel และ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ แอร์พอร์ต 9