อาการปวดหลังถือเป็นปัญหาใหญ่ที่พบมากในทุกเพศทุกวัย พบมากในวัยทำงาน และงานที่เสี่ยงกับอาการปวดหลัง ผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนใหญ่ มักมาจากกลุ่มทำงานที่ต้องยกของหนัก นั่งขับรถนาน นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องนาน และยืนเดินด้วยส้นสูงต่อเนื่องตามลำดับ สาเหตุของอาการปวดหลังมากกว่า 90% มาจากความผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นจากกล้ามเนื้อที่เกร็ง อักเสบ ข้อต่อที่ยึดติด และจากแนวกระดูกที่ไม่สมดุล ทำให้มีปัญหาหมอนรองกระดูก และเส้นเอ็นรอบๆข้อต่อกระดูกสันหลังจนทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นมา
คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงอาการปวดหลังว่า หากเกิดอาการปวดหลังเรื้อรังจากการรักษาไม่ตรงจุด การทำงานแบบซ้ำๆอย่างเดิมทำให้ร่างกายซ่อมแซมตนเองได้ไม่เต็มที่จนเกิดการบาดเจ็บซ้ำๆเป็นปัญหาต่อเนื่องระยะยาว มักส่งผลกระทบต่อร่างกายส่วนอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งปัญหาต่างๆที่ตามมาทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ครอบครัว คนรอบข้าง ส่งผลต่อจิตใจในระยะยาวได้ และอาการปวดหลังยังส่งผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ อีกด้วย ดังต่อไปนี้
• ปวดเข่า เป็นอาการที่พบหลังปวดหลังเรื้อรัง เนื่องจากกล้ามเนื้อที่หลัง มีเยื่อหุ้มบางส่วนที่ลิ้งค์ไปถึงเข่า เมื่อเรื้อรังก็เกิดการดึงรั้ง ทำให้ไม่สมดุล เกิดแรงกดเบียดที่เข่ามากกว่าปกติ เกิดปวดเข่าขึ้นมาได้
• ปวดส้นเท้า ปวดฝ่าเท้า เมื่อปวดหลังเรื้อรังทำให้ร่างกายกลัวต่อการลงน้ำหนักฝั่งที่ปวด และทดแทนด้วยการเลี่ยงที่จะลงน้ำหนักข้างปวด ไปลงอีกฝั่งด้านที่ไม่ปวด จากความไม่สมดุลนี้ ฝ่าเท้าอีกฝั่งจะรับน้ำหนักมากกว่าปกติ เกิดการยืดเพราะรับน้ำหนักเกิน ทำให้บาดเจ็บ และมีปัญหาที่ฝ่าเท้าในที่สุด
• ปวดคอ บ่า บางครั้งอาจร้าวเข้ากระบอกตา ร้าวขึ้นศีรษะ หากอาการปวดหลังเกิดจากความตึง หรือเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ความตึงรั้งดังกล่าวอาจส่งผลตึงไปถึงก้านคอ หรือคอ บ่า เนื่องจากกล้ามเนื้อ มัดลึกของหลังจะเกาะยาวตลอดแนวกระดูกสันหลัง เพราะฉะนั้น แรงตึงตัวอาจส่งผลไปถึง คอ บ่า ไหล่ และเนื่องจากการเกร็งตัวของคอ จะส่งผลให้ปวดร้าวเข้ากระบอกตา หรือปวดร้าวขึ้นหัวได้
• เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม หายใจลึก ๆ แล้วรู้สึกติดขัด กล้ามเนื้อหลังช่วงบั้นเอวมัดลึกๆ ส่วนหนึ่งจะเกาะจากกระดูกสันหลังไปที่ชายโครง หากมีการเกร็งตัวมากๆ จะจำกัดการขยายตัวของชายโครง เวลาชายโครงถูกดึงรั้งไว้ ปอดจะขยายตัวได้น้อย ทำให้รู้สึกหายใจลึกๆ ได้ลำบาก
• ความตึงรั้งของกล้ามเนื้อหลัง อาจส่งผลถึงการไหลเวียนของระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ส่งผลต่อการย่อยอาหาร และการขับถ่าย เพราะระบบประสาทอัตโนมัตินี้ เป็นรากประสาทที่ออกจากข้างๆ กระดูกสันหลัง หากมีการเกร็งตัวมากของกล้ามเนื้อหลัง จะส่งผลได้ทำให้การย่อยอาหารยากขึ้น เกิดภาวะท้องอืด หรือมีการบีบตัวของลำไส้น้อยลง ทำให้ท้องผูกได้ ฯลฯ
ไม่น่าเชื่อว่าอาการปวดหลังเรื้อรัง อาจส่งผลให้พัง ทั้งร่างได้ เนื่องจากหลังเป็นส่วนที่เชื่อมต่อถึงระบบ และส่วนอื่นๆของร่างกายได้อีกมากมาย รู้อย่างนี้แล้วการดูแลรักษาอาการปวดหลังให้ตรงจุด จึงควรให้ความสำคัญจะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลังได้