การขับถ่ายแบบปัสสาวะนั้น แน่นอนว่าก็ต้องเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรปกติของมนุษย์เรา เพราะนี่คือสิ่งหนึ่งที่ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว แต่หากได้สังเกตในเรื่องของ “กลิ่นปัสสาวะ” แล้วล่ะก็ ในบางทีก็อาจจะส่งผลต่อร่างกายของคนเราได้เช่นเดียวกันนะ
ที่มาของ “ปัสสาวะ”
สำหรับการมาของ “ปัสสาวะ” นั้น จะมีส่วนประกอบไปด้วยน้ำและของเสียที่ขับออกมาจากไต ของเสียเหล่านี้เองที่ส่งผลต่อกลิ่นของน้ำปัสสาวะ และโดยทั่วไปแล้ว “ปัสสาวะ” จะมีลักษณะใสจนถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นเฉพาะที่ไม่ฉุนรุนแรงจนเกินไป อาจมีกลิ่นเปลี่ยนไปบ้าง ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น อาหาร หรือ เครื่องดื่มที่รับประทาน ฯลฯ
กลิ่นของ “ปัสสาวะ”
แต่ถ้าหากปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรงหรือกลิ่นลักษณะผิดปกติไป อาจบ่งบอกถึงภาวะหรือ โรคบางอย่าง เพราะโดยปกติแล้ว เมื่อ “ปัสสาวะ” เมื่อถ่ายออกมาสด ๆ จะมีกลิ่นหอมกำยาน และถ้าตั้งทิ้งไว้ค้างคืน จะมีกลิ่นแอมโมเนีย อาหารและยาทำให้กลิ่นปัสสาวะเปลี่ยนแปลงได้ เช่น สะตอ ทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นฉุน
หรือถ้ากลิ่นปัสสาวะใหม่ ๆ สด ๆ บางกลิ่นสามารถเดาได้ว่าเป็นปัสสาวะของโรคอะไร เช่น กลิ่นน้ำนมแมวมักจะพบในปัสสาวะของคนที่เป็นเบาหวานที่เป็นมากและไม่ได้รักษา กลิ่นเหม็นเน่าเกิดจากการติดเชื้อมักจะพบปัสสาวะขุ่นเป็นหนองด้วยกลิ่นแอมโมเนียของปัสสาวะใหม่สด แสดงถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
สาเหตุของ “กลิ่นปัสสาวะฉุน”
1.สาเหตุที่พบได้บ่อยแต่ไม่อันตราย
-เกิดมาจากเครื่องดื่มหรืออาหารบางชนิด ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปจะส่งผลต่อกลิ่นของปัสสาวะได้ เช่น กาแฟ หน่อไม้ฝรั่ง ยา หรือวิตามินบางชนิด
-การดื่มน้ำน้อย ก็จะทำให้ปัสสาวะเข้มข้นขึ้น (ปริมาณน้ำลดลงแต่ของเสียมากขึ้น) จึงมีกลิ่นฉุนขึ้น
โดยสาเหตุเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดย ดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 2 ลิตรต่อวัน และลองสังเกตตัวเองว่าถ้าไม่ทานอาหารหรือเครื่องดื่มเหล่านี้แล้ว กลิ่นดังกล่าวนี้จะดีขึ้นหรือไม่
2.สาเหตุที่ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
-มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
-เป็นโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูง
-โรคตับ
-กระเพาะปัสสาวะมีรูรั่วต่อกับลำไส้หรือช่องคลอด
-โรคพันธุกรรมบางชนิด ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยกรดอะมิโนบางชนิด และเกิดการสะสมของสารดังกล่าวในน้ำปัสสาวะจำนวนมาก จนเกิดกลิ่นผิดปกติ โดยกลิ่นจะมีลักษณะอับ หรือ กลิ่นเหมือนน้ำเชื่อม
สำหรับสาเหตุเหล่านี้ ปัสสาวะของคนไข้มีกลิ่นฉุนที่รุนแรงผิดปกติ หรือ ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนร่วมกับมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะเป็นเลือด มีไข้ ปวดท้อง ปวดหลัง ปัสสาวะกลิ่นหวาน (เบาหวาน) คลื่นไส้ อาเจียน อาการสับสน ตัวเหลือง-ตาเหลือง(โรคตับ) ฯลฯ ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์