xs
xsm
sm
md
lg

7 โรคฮิตจากความเครียดในวัยทำงาน 2023 พร้อมวิธีบำบัดอาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับข้อมูลการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต พบว่าไทยเรามีคนวัยทำงานเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 20-59 ปี โดยผู้ที่โทรเข้ารับการให้คำแนะนำกับสายด่วนกรมสุขภาพจิตนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเครียด, ความวิตกกังวล และการไม่มีความสุขจากการทำงาน สูงเป็นอันดับ 1 กว่า 5,989 สาย จากสายที่รับเข้ามาทั้งหมด 8,009 สาย หรือกว่า 75% ของจำนวนสายที่รับเข้า

นอกจากนี้ ผลการสำรวจ Mental Health Check In ในปี 2565 จากผู้ที่เข้าสำรวจจำนวน 1,149,231 ราย พบว่า มนุษย์วัยทำงานมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า 5.47%, ภาวะหมดไฟ 4.59 % และมีความเครียดสูง 4.37 % จะเห็นได้ว่าเรื่องของความเครียดจากการทำงานจนนำไปสู่โรคต่าง ๆ นั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

‘ความเครียด’ ไม่ได้ทำร้ายเพียงแค่จิตใจเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อร่างกายของเราอีกด้วย วันนี้ เราจะมาดูกันว่าโรคที่เกิดจากความเครียดในการทำงานนั้นมีอะไรบ้าง พร้อมวิธีการบำบัดที่น่าสนใจ ไปติดตามกัน


โรคจากความเครียดในการทำงาน
ความเครียดจากการทำงานนับเป็นสาเหตุหลักของมนุษย์วัยทำงานที่ทำให้เกิดโรคได้มากมาย ดังนี้

1. โรคความดันโลหิตสูง
มนุษย์ออฟฟิศมักได้รับความกดดันจากการทำงานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นจากเนื้องานเอง หรือจากกำหนดการส่งงานที่กระชั้นชิดตามที่บริษัทกำหนด นอกจากนี้ โรคนี้ยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้อีก อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต และไตวาย เป็นต้น

2. โรคหัวใจ
อีกหนึ่งโรคฮิตที่เป็นผลพวงมาจากความเครียด และเป็นโรคที่เกิดกับมนุษย์เงินเดือนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้องทำงานเร่งรีบตลอดเวลา, พักผ่อนน้อย ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร ที่สำคัญคือ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เหล่านี้ล้วนเป็นตัวเสริมให้เกิดโรคหัวใจได้ทั้งสิ้น

3. โรคเครียดลงกระเพาะ
เมื่อเวลาที่เราเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ กระเพาะอาหารจะเกิดการระคายเคืองจนส่งผลให้เกิดโรคกระเพาะอาหารนั่นเอง

4. โรคนอนไม่หลับ
ความเครียดทำให้ฮอร์โมนในร่างกายหลายชนิดมีการเปลี่ยนแปลง และมีผลต่อการนอนหลับ เวลาที่เคยนอนหลับก็เปลี่ยนแปลงไป หรือถ้านอนหลับก็หลับได้ไม่สนิท ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอ่อนเพลีย, หงุดหงิดง่าย และเจ็บป่วยในที่สุด

5. โรคไมเกรน
สารเซโรโทนิน (Serotonin) คือ สารในสมองที่ไม่ใช่เพียงแค่ควบคุมในส่วนของความรู้สึกเจ็บ, ปวด, อิ่ม และหิวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการนอนหลับอีกดด้วย แต่หากเรามีความเครียด จะส่งผลให้สารนี้บกพร่อง ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัวและหดตัวมากกว่าปกติ เกิดเป็นไมเกรน ปวดหัวนั่นเอง

6. โรคกรดไหลย้อน
อีกหนึ่งโรคภัยเงียบที่มนุษย์ออฟฟิศหลายคนมองข้าม ด้วยการทำงานที่เร่งรีบ จึงทำให้ความใส่ใจเรื่องโภชนาการอาหารลดลง กลายเป็นทานอาหารที่รสจัด, ของมัน, ของทอด, น้ำอัดลม หรือจังก์ฟูด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงทำงานจนดึกต้องทานอาหารมื้อดึก สักพักก็นอน เหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคกรดไหลย้อนได้ทั้งสิ้น

7. โรคออฟฟิศซินโดรม
โรคฮิตที่มักเกิดกับคนวัยทำงานเป็นจำนวนมาก สาเหตุเกิดจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ด้วยความที่มีงานด่วนต้องเคลียร์ ทำให้ไม่อยากลุกออกจากเก้าอี้ กล้ามเนื้อจึงเกิดอาการตึง ลามไปเป็นกล้ามเนื้ออักเสบได้ จากสถิตกรมอนามัยระบุว่า “คนในวัยทำงานมีภาวะโรคออฟฟิศซินโดรมถึง 60%”


วิธีบำบัดอาการจากความเครียด
วิธีบำบัด ‘ความเครียดที่เกิดจากการทำงาน’ นั้นสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

1. นั่งสมาธิ
หมั่นสังเกตตัวเอง ดูว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าเริ่มคิดงานไม่ออก วนหาทางแก้ไขเท่าไหร่ก็ทำไม่ได้สักที แต่ก็ไม่อยากลุกออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปทำอย่างอื่นเลย แสดงว่าเกิดภาวะเครียดแล้ว ให้ตั้งสติ ทำสมาธิ ฝึกลมหายใจเข้า-ออกช้า ๆ เพื่อให้ชีพจรช้าลง อย่างน้อยก็ทำให้เราได้ละเรื่องความเครียดได้ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว

2. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphine) หรือ สารแห่งความสุขออกมา สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการลุกขึ้นยืนและยืดเส้นยืดสาย หรือจะเดินไปห้องน้ำบ้างก็เป็นเรื่องดี ละจากหน้าจอคอมพิวเตอร์สัก 10 นาที เท่านี้ก็ช่วยลดความเครียดได้แล้ว

3. โยคะบำบัด
หลายคนคงทราบกันดีว่า การเล่นโยคะเป็นการช่วยคุมเรื่องการหายใจเข้า-ออกได้ดี มีผลงานการวิจัยระบุว่า การฝึกโยคะสามารถลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ เนื่องจากโยคะมีส่วนช่วยให้ร่างกายชะลอการหลั่งของฮอร์โมนคอร์ติซอลที่จะหลั่งออกมาเมื่อร่างกายเกิดความเครียด การฝึกลมหายใจจากโยคะจึงเป็นการช่วยเสริมสร้างสมาธิและสร้างความรู้สึกผ่อนคลายได้อีกทางหนึ่ง

4. ดูหนัง ฟังเพลง
ความเครียดที่เกิดขึ้นใช้เวลาในการสะสมฉันใด การบำบัดความเครียดก็ต้องอาศัยเวลาเช่นกัน แต่การที่เราพาตัวเองออกมาจากสาเหตุที่ทำให้เราเกิดความเครียดนับเป็นสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง หรือการฟังเพลง ก็ช่วยได้ อย่างน้อยก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราสมองปลอดโปร่งได้ แล้วค่อยกลับมาทำงาน หรือคิดแก้ไขปัญหาต่อ

5. บำบัดด้วยวิธีทางเลือก
หลังจากที่ ‘กัญชา’ ได้รับการปลดล็อกออกจากทะเบียนยาเสพติดประเภทที่ 5 แล้วนั้น พบว่า กัญชาได้รับความนิยมในทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง เพราะมีสรรพคุณในการบำบัดรักษาอาการที่เกิดจากความเครียดและอาการปวดต่าง ๆ ได้มากมาย ในกัญชามีสาร 2 ชนิด ได้แก่ CBD และ THC ซึ่งมีเทอร์ปีนที่ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น, ผ่อนคลาย และหลับสบาย

หลายคนเลือกใช้ในรูปแบบอาหารผสมกัญชา เช่น กัมมี่, บราวนี่ หรือบางคนใช้ในรูปแบบน้ำมัน อาทิ น้ำมัน CBD ก็ได้เช่นกัน ซึ่งส่วนนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการมึนเมาเนื่องจากมีปริมาณ THC น้อยกว่า 0.2% ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ก่อนที่จะใช้วิธีบำบัดวิธีนี้ ควรศึกษาข้อมูลของกัญชา, ควรเริ่มในปริมาณน้อย และปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อผลลัพธ์ที่เหมาะกับตัวเอง

6. จัดสรรเวลาเวลาทำงานและพักผ่อน
ก่อนเริ่มวันทำงานในทุกเช้า ควรจัดลำดับความสำคัญของงานเสียก่อน โดยเลือกจากงานที่ยาก งานที่ต้องใช้ความคิดมากก่อน จากนั้นคัดงานที่มีกำหนดส่งงานก่อนมาทำ สิ่งสำคัญ ระหว่างการทำงานควรพักสมองจากการทำงานชิ้นนั้น ๆ ประมาณ 10-15 นาที เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะให้สมอง และร่างกายได้ผ่อนคลาย

เพราะวัยทำงานเป็นวัยที่นับว่าเป็นช่วงก่อร่างสร้างตัว เป็นวัยที่หลายคนทุ่มเทให้กับการทำงานเสียจนลืมใส่ใจดูแลจิตใจจนส่งผลกระทบต่อร่างกายของตัวเอง นั่งติดอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ คิดงานจนเกิดความเครียด และเกิดเป็นโรคในท้ายที่สุด เงินเดือนที่ได้มานำไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนที่จะได้ออกไปหาประสบการณ์เปิดโลกกว้างให้กับชีวิต เพราะฉะนั้นก่อนเริ่มการทำงานในทุกวันควรจัดสรรลำดับงาน, ตารางงาน, ช่วงเวลาพักผ่อน รวมถึงเรียนรู้วิธีการบำบัดเบื้องต้นให้กับตัวเองด้วย เพื่อที่ชีวิตจะได้ไปต่อกับการทำงานได้อย่างมีความสุข ไม่มีโรคภัยมากวนใจ

อ้างอิง: hfocus.org, paolohospital.com

(Advertorial)


กำลังโหลดความคิดเห็น