ในการนอนของแต่ละคนนั้น โดยส่วนใหญ่ก็ต้องนอนในช่วงเวลากลางคืนอยู่แล้ว อาจจะเป็นเพราะว่า ช่วงเวลาทำงานปกติจะอยู่ในช่วงกลางวันโดยปกติทั่วไป แต่ในขณะเดียวกัน บางคนก็มีช่วงชีวิตที่จะต้องทำงานในตอนกลางคืน ซึ่งก็หนีไม่พ้นในการนอนดึกหรือเลยเถิดไปจนเช้าเลยก็ได้ ซึ่งการนอนในแบบหลังนี่แหละ ก็อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายในภายหลังก็เป็นได้
สาเหตุของการนอนดึก
การนอนดึกหรือเลยไปจนถึงช่วงเช้านั้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น นาฬิกาชีวิตแตกต่างไปจากปกติ โดยนาฬิกาชีวิต หมายถึง รอบการทำงานของร่างกายใน 24 ชั่วโมง ที่ร่างกายเข้าใจอัตโนมัติว่าเวลาใดคือเวลาตื่น เวลาใดคือเวลานอน โดยอาศัยความมืดและความสว่าง ดังนั้น ผู้ที่มีนาฬิกาชีวิตแตกต่างไปจากปกติอาจมีแนวโน้มที่จะนอนดึกได้ ในขณะเดียวกัน การนอนในลักษณะดังกล่าว อาจเกิดจากอีกสาเหตุที่เกี่ยวกับเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายควบคุมการนอนหรือตื่นได้
โดยการนอนดึกจึงอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเมลาโทนินผิดปกติ มีปัญหาหรือได้รับผลกระทบมาจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
สภาพแวดล้อมตอนนอนไม่เหมาะสม
ร่างกายอาจเข้าใจว่ายังไม่ถึงเวลานอน ถ้ามีแสงสว่างมากเกินไปหรือมีการส่งเสียงที่ดังเกินไป
การเปลี่ยนแปลงตารางเวลานอน
สำหรับสาเหตุของการนอนแบบนี้ มักเกิดกับผู้ที่ต้องทำงานกะกลางคืนหรือต้องสลับกะอยู่ตลอดเวลา ร่างกายจึงต้องเปลี่ยนเวลานอนอยู่บ่อยครั้ง อาจทำให้ง่วงหรือเหนื่อยล้าในช่วงที่ทำงานได้ เพราะร่างกายปรับเวลาไม่ทัน
ภาวะการเกิดเจ็ตแล็ก
ส่วนสาเหตุนี้นั้น เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางไปยังที่ที่โซนเวลาไม่เท่ากัน เช่น ต้องเดินทางไปยังจุดหมายที่โซนเวลาช้ากว่า 10 ชั่วโมง หากเดินทางตั้งแต่เช้า พอไปถึงจุดหมายร่างกายจะเข้าใจตามเวลาเดิมว่าดึกแล้ว ในขณะที่จุดหมายยังอยู่ในช่วงเช้า แต่ร่างกายต้องการการพักผ่อน
ผลกระทบจากยาและแอลกอฮอล์
ในยาบางชนิดอาจทำให้รู้สึกง่วงหรืออาจส่งผลให้มีปัญหากับการนอน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน อาจมีผลให้ไม่รู้สึกง่วง จนนอนดึก แต่หากดื่มในช่วงเวลาอื่น ๆ อาจไม่ส่งผลกระทบ
ผลเสียจากนอนดึก
การนอนดึกหรือนอนเช้า เป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกาย หากไม่รีบแก้ไข อาจต้องประสบปัญหาหรือเป็นโรคต่าง ๆ ดังนี้
ปัญหาสุขภาพจิต
การนอนดึกหรือนอนเช้านั้น จะส่งผลถึงอารมณ์หลังจากตื่นนอน เช่น ความคิดในเชิงลบ ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น
โรคอ้วน
ถ้าให้เปรียบเทียบ ภาวะโรคอ้วน ระหว่างชายและหญิง ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีไขมันหน้าท้องและมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นภาวะอ้วนลงพุง
ขณะเดียวกันยังมีงานวิจัยระบุว่า การนอนดึกอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นได้ เพราะพบความสัมพันธ์ของค่าดัชนีมวลกายสูงขึ้น แต่ยังไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างชัดเจน
โรคเบาหวาน
ในร่างกายมีความจำเป็นต้องใช้อินซูลิน เพื่อดูดซึมน้ำตาลในกระแสเลือด แต่การนอนดึกอาจส่งผลให้ร่างกายหยุดการผลิตอินซูลินออกมา ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น และอาจทำให้เป็นโรคเบาหวานได้
โรคหัวใจ
มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าผู้ที่นอนหลังเที่ยงคืน อาจะเกิดภาวะเส้นเลือดแดงแข็ง ได้มากกว่าผู้ที่นอนก่อนเที่ยงคืน แต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าการนอนดึกส่งผลให้เป็นโรคหัวใจโดยตรง เพราะผู้ที่เป็นโรคหัวใจจากการนอนดึกนั้น มักมีปัจจัยเสียงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สูบบุหรี่ ดื่มหนักหรือกินมากเกินไป เป็นต้น
วิธีแก้ปัญหา
- ปรับเปลี่ยนบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะแก่การนอนหลับ เช่น เย็นสบาย มืดสลัว และเงียบสงบ
- ทำการผ่อนคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน เช่น การนวดให้ร่างกายผ่อนคลาย
- หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หากเลี่ยงไม่ได้ สามรรถนอนได้ แต่ไม่ควรนอนเกินวันละ 1 ชั่วโมง
- เข้านอนให้ตรงเวลา ร่างกายจะจดจำเวลานอนเอง
- หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก หรืออาหารที่ย่อยยากก่อนนอน เพราะจะทำให้ปวดท้อง เนื่องจากจะมีอาการกดไหลย้อน
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ที่มีคาเฟอีน หรือน้ำอัดลม
- ทำการออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกก่อนนอน เพราะจะทำให้ร่างกายตื่นตัว นอนไม่หลับ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลบางปะกอก และ pobpad.com