xs
xsm
sm
md
lg

ใช้ข้อเท้าอย่างมีสติ ระวัง “ข้อเท้าพลิก” อาจบาดเจ็บได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลาย ๆ คนที่ชอบเดิน หรือออกกำลังกายที่ใช้เท้าเป็นหลัก แน่นอนว่าต้องมีการขับเคลื่อนร่างกายในส่วนนี้เป็นหลักอยู่แล้ว แต่หากมีความผิดพลาดไปถึงขั้น “ข้อเท้าพลิก” ล่ะ จะรับมือกับอาการบาดเจ็บตรงนี้อย่างไรบ้าง ฉะนั้นแล้ว มารับมือกับอาการบาดเจ็บตรงนี้กัน เพื่อที่จะทำการระมัดระวังในการใช้ข้อเท้าในคราวต่อไป

“ข้อเท้าพลิก” เกิดขึ้นได้อย่างไร

สำหรับอาการบาดเจ็บดังกล่าวนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ


กรณีแรก คือ คนทั่วไปที่เกิดอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ลื่นล้มในพื้นต่างระดับ ทางเท้าไม่เรียบ พื้นที่สูงชัน ขั้นบันได ฯลฯ

ขณะที่กรณีที่สอง คือ นักกีฬาที่เล่นกีฬาประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการล้มข้อเท้าพลิกข้อเท้าแพลงสูง เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเลย์บอล เซปักตะกร้อ เป็นต้น


อาการของ “ข้อเท้าพลิก”

สำหรับอาการของ “ข้อเท้าพลิก” นั้น จะเกิดตรงบริเวณเส้นเอ็นที่ได้รับผลกระทบจะบวม แดง เกิดการอักเสบ หากถึงขั้นฉีกขาด อาจเกิดอาการบวมที่เนื้อเยื่อ และมีอาการปวดร่วมด้วย โดยอาการของข้อเท้าพลิกมักส่งผลกระทบที่เส้นเอ็นโดยตรง ไม่ส่งผลกระทบต่อข้อต่อหรือกระดูก เว้นแต่ว่าอาการรุนแรงมาก ๆ จึงส่งผลข้างเคียง อย่างในผู้สูงอายุที่กระดูกบาง เวลาข้อเท้าพลิกเส้นเอ็นอาจไปกระชากกระดูกให้หักไปด้วย ส่วนในคนที่เล่นกีฬา กระดูกมักจะหักจากการเล่นกีฬามากกว่า

หรือในบางครั้งมีรอยช้ำของเลือดเกิดขึ้น ส่วนมากมักมีผลมาจากเส้นเอ็นที่ฉีกขาด แต่บางครั้งก็อาจเป็นเพราะกระดูกหัก โดยวิธีแยกระหว่างกระดูกหักหรือเส้นเอ็นขาด ต้องใช้วิธีตรวจร่างกายถึงจะรู้ผล แต่สำหรับการตรวจเช็คอาการเบื้องต้น แพทย์จะใช้มือกดเพื่อหาตำแหน่งที่เจ็บที่สุด หากกดที่กระดูกแล้วเจ็บด้วยก็อาจเป็นไปได้ว่ากระดูกอาจจะหักร่วมด้วย จากนั้นก็จะ X-Ray ตามลำดับเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง


วิธีปฐมพยาบาล ในกรณี “ข้อเท้าพลิก”

-ทำการประคบเย็น เนื่องจากความเย็นจะทำให้หลอดเลือดรอบๆ ข้อเท้าหดตัว ทำให้อาการบวมที่เกิดขึ้นนั้นลดลง

-พันผ้ายืด Elastic Bandage หรือใช้ Ankle Support รอบข้อเท้า เพราะอุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดจะทำให้อาการบวมของเนื้อเยื่อรอบๆข้อเท้าลดลง อาการอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจะน้อยลงได้

-ให้ยกปลายเท้าสูง ถ้าเป็นไปได้ควรยกขาสูงเหนือกว่าระดับหัวใจเวลานอน เหนือกว่าระดับสะโพกเวลานั่ง การบวมก็จะลดลงเช่นเดียวกัน

-ประเมินอาการตนเอง หลัก ๆ คือดู “การเดินลงน้ำหนักปกติ”


ข้อควรระวังของ “ข้อเท้าพลิก”

-เลี่ยงการใส่รองเท้ามีส้น เพราะอาจจะทำให้เกิดการพลิกแพลงได้ง่ายกว่าเดิม

-ทำการเลือกรองเท้าที่มีความกว้างพอดีส้น เพื่อที่จะช่วยให้ข้อเท้ามั่นคงมากขึ้น

-มีการประคบเย็นบ่อย ๆ ในช่วง 1 เดือนแรก จะทำให้ออาการดีขึ้น

-หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ใช้กล้ามเนื้อเท้า เพื่อลดความเสี่ยงอาการบาดเจ็บ

-รอให้กล้ามเนื้อข้อเท้าหายดี ก่อนที่จะกลับไปเล่นกีฬาซ้ำอีก เพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บซ้ำ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลไทยนครินทร์, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และ Ramachannel


กำลังโหลดความคิดเห็น