ในช่วงชีวิตของมนุษย์ปกติทั่วไป ที่จะต้องใช้ชีวิตประจำวันนั้น ย่อมที่จะต้องผ่านการใช้อิริยาบทต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าวันหนึ่ง เกิดมี “อาการชา” ขึ้นมาล่ะ จะทำอย่างไรกัน จะปล่อยให้หายเองหรือทำการรักษา แล้วถ้าปล่อยไว้อย่างนั้น จะอันตรายต่อร่างกายเพียงใดกัน ฉะนั้นแล้ว เรามาดูลักษณะของ “อาการชา” กัน
ลักษณะของ “อาการชา”
“อาการชา” คือ อาการผิดปกติของระบบประสาท รับความรู้สึก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่นิ้ว มือ แขน เท้าหรือขา เป็นอาการที่มีความรู้สึกเจ็บ ปวด ร้อน หรือเย็นน้อยกว่าปกติหรือไม่มีความรู้สึกเลย บางคนอาจรู้สึกซ่า ๆ ที่ปลายมือปลายเท้าหรือบริเวณอื่นหรือมีอาการเหมือนมีอะไรยุบยิบ ๆ ตามปลายมือปลายเท้า แล้วก็หายไปหรือเป็นตลอด
โดยอาการดังกล่าวนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทส่งความรู้สึกของบริเวณที่เป็น ทำงานบกพร่องไปแล้วอย่างน้อย 50 เปอร์เซนต์ ซึ่งถ้าเส้นประสาทส่งความรู้สึกทำงานบกพร่องไปอย่างช้า ๆ อาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติและมักตรวจพบได้ยาก แต่ถ้าเกิดการบกพร่องไปอย่างรวดเร็วจะเกิดอาการที่ชัดเจน
สาเหตุของ “อาการชา” ตามบริเวณต่าง ๆ
- ถ้าชาปลายเท้าและปลายมือเข้าหาลำตัว เกิดจากการขาดสารอาหารที่สำคัญบางชนิด ได้แก่ วิตามิน B1, วิตามิน B6 และ วิตามิน B12
- รู้สึกชาตั้งแต่แขนไปจนถึงนิ้วมือ อาจเกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อม และมีผลต่อการกดทับเส้นประสาท
- ชาเลยตรงข้อมือขึ้นมาจนถึงข้อศอก อาจเป็นสัญญาณเตือนของเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณกระดูกไหปลาร้า
- ชาตั้งแต่สะโพกลงไปจนถึงเท้า อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
- ชาที่นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วโป้ง อาจเป็นอาการเกี่ยวกับกระดูกคอทับเส้นประสาท
- ชาบริเวณปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า อาจมาจากภาวะน้ำตาลสูง ส่งผลให้เส้นประสาทส่วนปลายที่ควบคุมการทำงานของมือ และเท้าเสียหาย
- ชาตามมือและนิ้วมือ มักมีอาการร่วมกับปวดแสบปวดร้อนบริเวณกระดูกและข้อ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของโรคเกาต์
วิธีรักษา “อาการชา” เบื้องต้น
- พยายามทำการขยับนิ้วมือบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เส้นประสาทเกิดการกดทับ หรือเกิดพังผืดที่เส้นประสาท
- งดทำกิจกรรม หรือใช้งานมือ แขน หรือเท้าหนักเกินไป เช่น การยกของหนัก เพราะอาจส่งผลให้อาการเจ็บยิ่งเพิ่มขึ้น
- รับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาท
- ทำการฉีดสเตียรอยด์ วิธีนี้จะใช้สำหรับกรณีผู้ป่วยรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล
- การผ่าตัด จะใช้ในกรณีเส้นประสาทกดทับ หรือเส้นประสาทได้รับความเสียหาย
ป้องกัน “อาการชา” ก่อนจะสายเกินแก้
- หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- ในระหว่างการใช้งาน ในกรณีที่พิมพ์คอมพิวเตอร์ พยายามให้ข้อมืออยู่ในท่าตรง เพื่อไม่ให้ข้อมือต้องทำงานหนักขึ้น
- ทำการวางตำแหน่งให้มือสูงกว่าข้อมือเล็กน้อย แขนควรวางอยู่ข้างลำตัว ในท่าที่สบาย ๆ ไม่เกร็ง
- หากจำเป็นต้องใช้งานมือข้างใดข้างหนึ่งในการทำงาน ควรฝึกให้มืออีกข้างใช้งานแทนกันได้ เพื่อไม่ให้ข้อมือข้างใดข้างหนึ่งทำงานหนักเกินไป
- ยืดเหยียด และออกกำลังกายข้อมือ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็น
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลวิภาวดี, โรงพยาบาลศิครินทร์, โรงพยาบาลเพชรเวช และ โรงพยาบาล KDMS