xs
xsm
sm
md
lg

“สารให้ความหวานแทนน้ำตาล" อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกมาให้เตือนเรื่อง การใช้ “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล” ว่าเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งในการรับประทานในแต่ละครั้งไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ระยะยาวต่อร่างกายด้านการควบคุมหรือลดน้ำหนัก ไม่ว่าในผู้ใหญ่หรือเด็ก และยังเน้นย้ำอีกว่าไม่มีความจำเป็นต่อร่างกายและไม่มีคุณค่าทางอาหาร อีกทั้งยังแนะให้รับความหวานจากผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสมแทน และหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีสารปรุงแต่งอื่น ๆ โดยคำแนะนำดังกล่าวนี้ยกเว้นบุคคลซึ่งเป็นโรคเบาหวาน  ซึ่ง “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล” คืออะไร เรามาหาคำตอบไปพร้อมกัน

"สารให้ความหวานแทนน้ำตาล" คืออะไร

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือ Sweetener เป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่งที่ใช้เพิ่มความหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาล มีทั้งแบบให้พลังงานและไม่ให้พลังงาน โดยมักจะนิยมใช้ในผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลและพลังงาน อย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก

ขณะเดียวกัน สารให้ความหวานส่วนใหญ่มักใช้ในปริมาณที่เล็กน้อยเนื่องจากให้ความหวานกว่าน้ำตาลหลายเท่าและยังช่วยลดพลังงานที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายอีกด้วย


สารให้ความหวานแทนน้ำตาล มีแบบไหนบ้าง

1.สารให้ความหวานที่ให้พลังงาน ได้แก่ ฟรุกโทส (น้ำตาลจากผลไม้) มอลทิทอล ซอร์บิทอล และ ไซลิทอล สารให้ความหวานกลุ่มนี้ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการ ควบคุมน้ำหนัก และ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

2.สารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน หรือให้พลังงานต่ำ ได้แก่ ซูคราโลส สตีเวีย (สารสกัดจากหญ้าหวาน) แอสปาแตม อะซิซัลเฟม-เค และ แซคคารีน (ขัณฑสกร) สารให้ความหวานกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน


ผลเสียของ “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล”

-ในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น ซอร์บิทอล แมนนิทอล เป็นชนิดน้ำตาลที่ไม่สามารถย่อยได้หมด อาจเกิดอาการมวลท้อง ท้องอืด และท้องเสียได้

-การบริโภคสารให้ความหวานเป็นประจำ อาจจะทำให้เรารู้สึกติดรสหวานได้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาหารการกินได้อย่างเต็มที่

-ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เป็นไมเกรน ผู้ป่วยโรคลมชัก และเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี

-ในงานวิจัยของสมาคมหัวใจอเมริกัน พบว่า การรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบสังเคราะห์ เพิ่มความเสี่ยงกับการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และความจำเสื่อม

-น้ำตาลเทียมบางชนิด หากบริโภคมากเกินไป อาจพบผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ, คลื่นไส้ วิงเวียน บางชนิดกระตุ้นการเกิดกรดในกระเพาะ เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะได้


คำแนะนำในการบริโภคน้ำตาล 

-ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน

-แม้น้ำผึ้งจะเป็นน้ำตาลที่พบในธรรมชาติ แต่หากบริโภคมากเกินไป จะทำให้ค่าไขมันไตรกลีซอไรด์สูงได้ เนื่องจากมีส่วนประกอบ ของน้ำตาลกลูโคสและฟรักโทส

-สตีวีโอไซด์ (หญ้าหวาน) เป็นสารให้ความหวานที่ปลอดภัย ต่อผู้บริโภค ควรบริโภคไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
 
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : pobpad.com, rabbitcare.com, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น