xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะวูบหมดสติ สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาวะวูบหมดสติ (Syncopal Attack) หมายถึงภาวะที่มีการสูญเสียการรับรู้สติ โดยอาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลงชั่วขณะ ทำให้สมองที่เป็นศูนย์ควบคุมการรู้สติขาดออกซิเจนชั่วคราวจึงทำให้หมดสติ โดยภาวะวูบหมดสติมีตั้งแต่เป็นลมธรรมดา จนถึงเป็นลมเนื่องจากความผิดปกติขั้นรุนแรง

โดยสาเหตุเกิดมาจากหลายปัจจัย

1. โรคหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ, ลิ้นหัวใจตีบ, หัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งชนิดเร็วและช้า, ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน, หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน เป็นต้น.

2. เกิดจากสมอง เช่น เส้นเลือดอุดตันในสมอง หลอดเลือดสมองตีบ เลือดออกในสมอง เป็นต้น

3. ร่างกายอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า จากการทำงานหนัก การหักโหมออกกำลังกาย หรือนอนดึกเป็นประจำ

4. อยู่ในสถานที่หรือสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เช่น อยู่ในสถานที่แออัดคับคั่ง หรือที่ที่ร้อนอบอ้าว

5. เกิดจากสภาพจิตใจที่ไม่เป็นปกติ เช่น เครียดมาก กลัว หรือตกใจมาก ๆ

6. ภาวะการสูญเสียเลือด หรือ ขาดน้ำ

7. ความดันโลหิตต่ำ ผู้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

8. ผู้ที่กินยารักษาโรคความดันเลือดสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีภาวะตกเลือด หรือเป็นภาวะของร่างกายในผู้สูงอายุ


อาการเป็นลม หมดสติ

•ผู้ที่เป็นลมธรรมดา มักจะมีอาการ รู้สึกใจหวิว ทรงตัวไม่ไหว และหมดสติอยู่นานเพียงไม่กี่วินาที ถึง 1-2 นาที แล้วฟื้นได้เอง บางคนก่อนจะเป็นลม อาจมีอาการเตือนล่วงหน้า เช่น หนักศีรษะ ตัวโคลงเคลง มองเห็นภาพเป็นจุดดำหรือตามัวลง มีเสียงดังในหู อยู่นาน 2-3 นาที แล้วก็เป็นลมฟุบไป

•ผู้ที่เป็นลมเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง มักจะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย

•ผู้ที่เป็นลมเนื่องจากโรคหัวใจ มักจะมีอาการเป็นลมโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า หรือเป็นลมขณะใช้แรง เช่น ยกของ ทำงานหนัก ผู้ป่วยมักมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอกหรือหายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย

วูบหมดสติแบบไหน? ที่ต้องส่งโรงพยาบาลทันที -ผู้ป่วยมีอาการวูบและหมดสติเป็นระยะเวลานาน

-ผู้ป่วยมีอาการวูบและมีอาการชัก
-ผู้ป่วยวูบแล้วหัวใจเต้นผิดปกติ อาจมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย
-ผู้ป่วยวูบ แล้วมีอาการหน้าเบี้ยวร่วมด้วย
-ผู้ป่วยมีอาการตกเลือด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ หรือมีเลือดออก
-ผู้ป่วยท้องเสียหรืออาเจียนรุนแรงจนมีภาวะขาดน้ำ
-ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ หรือทราบว่ามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น
-ผู้ป่วยมีอาการอื่นร่วมด้วย อย่างน้อย 1 อย่าง ดังนี้ ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ หรือแขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง

ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อกำลังจะเป็นลมหมดสติ และเจอคนเป็นลมหมดสติ

-สำหรับผู้ป่วย ให้รีบล้มตัวลงนอนทันที เพื่อให้หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น จะสามารถป้องกันการเป็นลมได้

-สำหรับผู้พบเห็นผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยนอนราบให้ได้มากที่สุด ป้องกันการบาดเจ็บจากการเป็นลม ปลดเสื้อผ้าและเข็มขัดให้หลวม ใช้ผ้าเย็นๆ เช็ดตามหน้า คอและแขนขา และสังเกตลักษณะผู้ป่วยว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง เช่น หน้าซีด ปากเขียว เหงื่อแตก ตัวเย็น เพราะจะสามารถบอกสาเหตุของการเป็นลมได้


การป้องกันอาการ หน้ามืด วูบ หมดสติ

-รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที

-ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

-ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

-พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 7-8 ชั่วโมง
-ตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อจะได้ทราบอาการผิดปกติของร่างกายและรับมือได้ทันท่วงที

ข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก :
โรงพยาบาลเวชธานี (https://shorturl.asia/UAsgJ)
โรงพยาบาลพระราม 9 (https://shorturl.asia/6AqLe)
โรงพยาบาลวิภาวดี (https://shorturl.asia/EAoSF)
โรงพยาบาลนครธน (https://shorturl.asia/d28It)


กำลังโหลดความคิดเห็น