เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว นอกจากความร้อนที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง นั่นก็คืออาการที่มีผลต่อร่างกาย ซึ่ง ‘ภาวะผดผื่นที่มาในช่วงหน้าร้อน’ ก็เป็นเหตุสำคัญที่เกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงนี้ ฉะนั้นหากดูแลร่างกายให้ดี อาการที่ว่าก็จะไม่เกิดขึ้น และผ่านมันไปได้ตลอดฤดูนี้
สำหรับอาการผด ผื่น คัน นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากสภาวะของร่างกายที่เข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เช่น อยู่ที่อากาศเย็นแล้วไปอากาศร้อน ร่างกายของเราจึงไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ส่งผลให้เกิดเหงื่อปริมาณมากที่ไปอุดตันรูขุมขน ทำให้เกิด “ผด ผื่น คัน” ตามข้อพับ ที่อับชื้นต่าง ๆ ตามร่างกาย มีลักษณะ คือ ตุ่มน้ำใส ๆ แตกง่าย อาจจะมีอาการคันเล็กน้อย
ถ้าหากเป็นมากจะมีลักษณะเป็น “ตุ่มแดง” และ “ตุ่มหนอง” ขึ้นมา แนะนำไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการ
โดยกลุ่มเสี่ยงในภาวะนี้นั้น จะพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนเจ้าเนื้อ หรือ ผู้ที่ชอบใส่เสื้อผ้ารัดแน่นแบบมาก ๆ
การรักษาอาการด้วยตนเอง
-หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น
-อยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น หรือมีเครื่องปรับอากาศ และประคบผ้าเย็นบริเวณผิวหนัง เพื่อช่วยลดความร้อน
-หลีกเลี่ยงการใช้พลาสเตอร์ปิดทับผิวหนัง หรือไม่สวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป เพื่อป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อ
-หลีกเลี่ยงการทำงานหรือออกกำลังกลางแจ้งที่อาจทำให้เกิดเหงื่อออกมาก
-อาบน้ำด้วยน้ำเย็นและสบู่ที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง และปล่อยให้ผิวแห้งเองหลังอาบน้ำเสร็จ ไม่ใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวเพื่อลดการเสียดสีจนเกิดผดร้อนอักเสบเพิ่มขึ้น
ในกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กนั้น ควรทำตามดังนี้
-ถอดเสื้อผ้าเด็กออก หรือให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ที่ระบายอากาศได้ดี
-พาเด็กเข้าที่ร่ม หรือบริเวณที่มีเครื่องปรับอากาศ
-ทำการอาบน้ำเย็น โดยให้น้ำไหลผ่านผิวหนังเรื่อย ๆ เพื่อชำระล้างเหงื่อและไขมันตามร่างกายออกไป และอาจใช้ผ้าเปียกหรือผ้าเย็นวางบนบริเวณที่เกิดผดร้อนเพื่อลดอุณหภูมิให้เย็นลง
-ใช้พัดลมเป่าตัวเด็กให้แห้งหลังจากอาบน้ำแทนการใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัว เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหนัง
-ตัดเล็บเด็กให้สั้นอยู่เสมอ หรือสวมถุงมือให้เด็กเพื่อป้องกันการเกาผิวหนังจนทำให้อาการรุนแรงขึ้น
วิธีการป้องกัน
-หลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน
-ถ้ามีความจำเป็นที่จะอยู่ในที่แจ้งเป็นเวลานาน ควรใช้ครีมกันแดดทาบริเวณใบหน้า ลำคอ และตรงผิวบริเวณที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม
-ควรใส่เสื้อผ้าสีเข้มหรือแขนยาว อาจจะสวมหมวกปีกกว้าง หรือใส่แว่นกันแดดเสริม
-ควรเสื้อเสื้อที่มีการระบายที่โปร่งสบาย เพื่อช่วยทั้งอากาศถ่ายเท ลดเหงื่อ และ ป้องกันการเกิดเชื้อราในร่มผ้า
-อาบน้ำทุกเช้าเย็น หรือหลังออกกำลังกาย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลศิริราช, Rama Channel และ pobpad.com