เรียกได้ว่ายามที่เราต้องพบกับช่วงฤดูหนาวทีไร ย่อมหนีไม่พ้นที่จะเกิด “ภาวะปากแห้ง” แทบทุกครั้ง เพราะน่าจะส่งผลต่อสุขภาพของแต่ละคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เหตุผลนี้ก็เป็นปัจจัยจากสภาพอากาศ แต่ในขณะเดียวกัน ภาวะดังกล่าวนี้ ก็ไม่ได้มาจากแค่เรื่องอากาศอย่างเดียว แต่ก็มีปัจจัยอื่นมาด้วยเช่นกัน ฉะนั้นก็ต้องดูแลร่างกายของเราให้ดีด้วย
อาการ “ภาวะปากแห้ง”
ภาวะปากแห้งที่จะพบทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากภาวะขาดน้ำหรือความวิตกกังวล แต่อาการปากแห้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณของโรคและการเจ็บป่วยบางชนิด โดยอาจมีอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วยและพบได้บ่อย เช่น
-คอแห้ง หรือ รู้สึกแห้งและเหนียวในปาก
-กระหายน้ำบ่อย
-มีแผลในปาก หรือ มีแผลหรือรอยแตกที่มุมปาก ริมฝีปากแตก
-ลิ้นแห้ง หยาบ หรือแดง
-มีอาการแสบหรือรู้สึกซ่าในปาก โดยเฉพาะที่ลิ้น
-มีอาการเจ็บคอ
-เสียงแหบ
-มีกลิ่นปาก หรือ จมูกแห้ง
-มีปัญหาในการพูดหรือการรับรู้รสชาติ
-มีปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหาร หรือ ในเรื่องการใส่ฟันปลอม
สาเหตุที่ทำให้เกิด “ภาวะปากแห้ง”
-ผลข้างเคียงจากโรคประจำตัว หรือ การใช้ยาบางชนิด
ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรควิตกกังวล รวมทั้งการใช้ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด เป็นต้น
-มีอายุที่เพิ่มขึ้น
เมื่ออายุที่เพิ่มขึ้น ต่อมน้ำลายจะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทั้งนี้ เมื่อร่วมกับการกินยาเพื่อรักษาโรคประจำตัวบางชนิด จะยิ่งทำให้ภาวะดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้น
-ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง
การฉายรังสีหรือทำเคมีบำบัดอาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมน้ำลาย โดยเฉพาะการฉายรังสีที่บริเวณศีรษะและลำคอ
-การสูบบุหรี่ และ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมักมีอาการปากแห้งได้บ่อยและรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว
-ภาวะขาดน้ำ
สำหรับสาเหตุนี้ จะเกิดจากการเจ็บป่วย เช่น อาเจียน ท้องเสีย เป็นไข้ ฯลฯ หรือสไตล์การใช้ชีวิต เช่น การดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือเสียเหงื่อมาก ๆ เป็นต้น
การป้องกัน “ภาวะปากแห้ง”
- หมั่นรักษาสุขลักษณะภายในช่องปากอย่างเคร่งครัด
- ดื่มน้ำหรือจิบน้ำบ่อย ๆ ในระหว่างวัน
- หรือในบางครั้ง ควรดื่มนม โยเกิร์ต เพื่อเสริมสร้างแคลเซียมป้องกันฟันผุ
- รับประทานอาหารที่มีรสชาติปกติ เลี่ยงอาหารรสหวาน เผ็ด และเปรี้ยว
- ชนิดของอาหารที่นำมารับประทาน ควรนิ่มหรือเป็นของเหลว งดอาหารแห้งและกรอบ
- งดสูบบุหรี่ รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ
- ทำการเคลือบริมฝีปากด้วยวาสลิน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น
- อาจเพิ่มตัวช่วย คือ เคี้ยวหมากฝรั่งหรือลูกอมที่ไม่มีรสหวานหรือน้ำตาล เพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำลาย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : pobpad.com, กรมอนามัย และ โรงพยาบาลธนบุรี