xs
xsm
sm
md
lg

กิน “เวย์โปรตีน” แทนมื้อหลักได้หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยุคนี้สมัยนี้ หลาย ๆ คน ก็รักสุขภาพไปในรูปแบบแตกต่างกันออกไป อาหารเสริมก็เป็นตัวเลือกอีกทางที่จะช่วยให้ร่างกายของเรานั้นมีการพัฒนาไปยิ่งขึ้น และแน่นอน “เวย์โปรตีน” ก็เป็นอีกทางเลือกในการการแก้ปัญหานี้ ซึ่งถามว่า เราจะสามารถกินทดแทนอาหารมื้อหลักได้หรือไม่ เรามาดูคำตอบไปพร้อมกัน

อะไรคือ “เวย์โปรตีน”

เวย์โปรตีน คือ โปรตีนหลักชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในน้ำนม โดยปกติแล้ว ในน้ำนมต่าง ๆ ประกอบไปด้วย โปรตีน 2 ชนิดหลัก คือ เวย์โปรตีน และ เคซีนโปรตีน เช่น ในน้ำนมแม่จะมีสัดส่วนของเวย์โปรตีนต่อเคซีนโปรตีนเป็น 80 ต่อ 20 ในขณะที่นมวัวทั่วไปจะมีสัดส่วนสลับกัน คือ เวย์โปรตีนต่อเคซีนโปรตีน 20 ต่อ 80

ซึ่งใน “เวย์โปรตีน” นั้น ก็อุดมไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็นสูง นอกจากน้ำนมแล้ว อาหารที่อาจมีเวย์โปรตีนเป็นส่วนประกอบยังได้แก่ ไอศกรีม ขนมปัง นมสูตรโปรตีนเวย์ที่ผ่านการย่อยบางส่วน และอาหารอื่น ๆ ซึ่งในอาหารแต่ละอย่างอาจผ่านกระบวนการปรุงที่หลากหลาย ทำให้มีระดับโปรตีน น้ำตาล แร่ธาตุ และไขมันที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้ ในส่วนของเวย์โปรตีนก็ยังเป็นโปรตีนที่ร่างกายย่อยได้ง่าย และมักนำมาใช้ในรูปแบบอาหารเสริมโปรตีน เพราะเชื่อกันว่าจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและเบาหวาน รวมทั้งการสูญเสียมวลกระดูก และอีกสารพัดประโยชน์ด้านสุขภาพ


เราสามารถกินเวย์โปรตันแทนอาหารหลักได้หรือไม่

สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจอย่างยิ่งเลยคือ “เวย์โปรตีน เป็นอาหารเสริม ไม่ใช่อาหารหลัก” ดังนั้นเราจึงไม่ควรนำมาแทนที่อาหารหลักหรืออาหารจริง ๆ และยังไม่มีนักโภชนาการคนไหนแนะนำให้แทนที่อาหารด้วยเวย์โปรตีนอยู่ดี เพราะในอาหารยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมันดี แร่ธาตุ และวิตามินต่าง ๆ ทั้งยังมีรสชาติที่ถูกปาก มอบความพึงพอใจในมื้ออาหารได้มากกว่า

เว้นเสียแต่ว่า บางรายนั้นมีเป้าหมายแบบเร่งด่วน เช่น ต้องการลดน้ำหนักหรือสร้างกล้ามเนื้อเพื่อการแข่งขัน เหมาะกับช่วงที่ร่างกายต้องการโปรตีนอย่างเร่งด่วน ซึ่งเมื่อทำสำเร็จตามเป้าแล้ว ก็ควรกลับมากินอาหารปกติ

ความปลอดภัยในการบริโภคเวย์โปรตีน

ฉะนั้นแล้ว การกินเวย์โปรตีนนั้น น่าจะปลอดภัยต่อเด็กและผู้ใหญ่โดยทั่วไป หากรับประทานอย่างเหมาะสม โดยกรณีที่ควรต้องระมัดระวัง มีดังนี้

-การได้รับเวย์โปรตีนในปริมาณสูงอาจเป็นเหตุให้เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น กระหายน้ำ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ ระดับคอเลสเตอรอลไม่คงที่ เกิดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน กระดูกหักมากขึ้น ไตวาย ตับเสียหาย รวมไปถึงอาการเกี่ยวกับกระเพาะหรือลำไส้ เช่น คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องผูก ปวดบีบที่ท้อง ท้องเสีย มีแก๊สในกระเพาะ กรดไหลย้อน ลำไส้มีการเคลื่อนตัวมากขึ้น อยากอาหารน้อยลง ปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว แขนขาบวม

-หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรที่ยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้เพียงพอต่อการรับรองว่าจะสามารถบริโภคเวย์โปรตีนได้อย่างปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการใช้จะดีที่สุด

-ผู้ที่มีอาการแพ้นมวัวไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีน

-เวย์โปรตีนอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมทั้งผู้ที่กำลังรับประทานยา สมุนไพร วิตามินหรืออาหารเสริมใด ๆ ที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดควรระมัดระวังในการใช้เวย์โปรตีน และอาจจำเป็นต้องคอยตรวจวัดระดับน้ำตาลโดยแพทย์หรือมีการปรับการใช้ยาบางชนิด

-เวย์โปรตีนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออกผิดปกติหรือรับประทานยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกควรระมัดระวัง โดยแพทย์อาจจำเป็นต้องปรับปริมาณการใช้ยาของผู้ป่วย

-เวย์โปรตีนอาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิดทำให้ร่างกายดูดซึมยาไปใช้ได้น้อยลง ส่งผลให้ยามีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีนร่วมกับยาเลโวโดปา และอัลเบนดาโซล และไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีนหลังจากใช้ยาอะเลนโดเนท ภายใน 2 ชั่วโมง

-ยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน สามารถเกิดปฏิกิริยากับเวย์โปรตีนและทำให้ร่างกายดูดซึมยาไปใช้ได้น้อยลงเช่นกัน หลังรับประทานยากลุ่มนี้ควรรอให้ผ่านไปอย่างน้อย 1 ชั่วโมงจึงจะรับประทานเวย์โปรตีนตามได้

-ยาปฏิชีวนะกลุ่มเตตราไซคลีน เนื่องจากในเวย์โปรตีนประกอบด้วยแคลเซียมที่สามารถยึดติดกับยากลุ่มนี้และลดการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย ควรรับประทานเวย์โปรตีน 2 ชั่วโมงก่อนรับประทานยาหรือหลังรับประทานยาแล้ว 4 ชั่วโมง

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : pobpad.com และ highwaywheyprotein.com


กำลังโหลดความคิดเห็น