พูดถึงการขับถ่ายแล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีการคำนึงถึงสิ่งที่เคยรับประทานไปก่อนหน้านี้ด้วย เพราะจะส่งผลต่อสุขภาพของเราด้วยอีกทางหนึ่ง แต่หากมีปัญหาในเรื่องที่ว่ามา นอกจากจะเป็นเรื่องสุขภาพแล้ว นั่นก็ย่อมที่จะนึกถึงโรคภัยด้วย ซึ่งก็รวมไปถึง “โรคมะเร็งลำไส้” ด้วย ฉะนั้นแล้ว เพื่อสุขภาพทางช่อง มารับทราบข้อมูลของโรคดังกล่าวกัน
สัญญาณเตือนของ “มะเร็งลำไส้”
1.เกิดอาการท้องผูกบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติ
หลาย ๆ คน มักมีปัญหาเรื่องท้องผูกมาตั้งแต่เด็กๆ นั่นอาจจะเพราะพฤติกรรมการกินที่ไม่กินผักผลไม้ ร่างกายไม่ได้รับไฟเบอร์เพียงพอ และดื่มน้ำน้อย ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานไม่ดี
แต่ในบางคนอาจมีอาการท้องผูกเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตในวัยทำงาน และปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรังจนมองว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิต พฤติกรรมนี้คือสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าอาจจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต
2.อุจจาระลีบเป็นลำเล็ก
สาเหตุนี้ อาจจะเป็นเพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเริ่มจากการมีติ่งเนื้อขึ้นมาในลำไส้ ซึ่งอาจเป็นติ่งเนื้อธรรมดาไม่ใช่เนื้อร้าย แล้วจึงพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งในภายหลัง ซึ่งการมีติ่งเนื้อขึ้นขวางภายในลำไส้นี้จึงทำให้อุจจาระที่เคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่มีลักษณะถูกบีบให้เป็นลำเล็กลีบ
ดังนั้นหากสังเกตได้ว่าอุจจาระมีลักษณะเล็กลีบเป็นประจำ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณมีก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อขึ้นในลำไส้
3.มีเลือดสดหรือเลือดสีแดงเข้มมากปนมากับอุจจาระ
การมีเลือดสดหรือเลือดสีแดงเข้ม อาจเกิดจากอุจจาระที่แข็งเมื่อเบียดกับติ่งเนื้อที่ขึ้นผิดปกติภายในลำไส้เกิดเป็นแผลทำให้มีเลือดออกและปนออกมาในบางครั้งที่ขับถ่าย
4.มีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูก
การอุจจาระแข็งและเหลวสลับกัน แถมยังเป็นติดต่อกันแบบมีอาการเรื้อรัง ถึงแม้ว่าจะกินอาหารที่เหมาะสมไม่ได้เป็นสาเหตุให้ท้องเสียก็ยังมีอาการนี้อยู่ นี่อาจเป็นความผิดปกติที่เกิดจากภายในลำไส้
5.กินอาหารเท่าเดิมแต่น้ำหนักลดฮวบฮาบ
ลักษณะอาการคือน้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีพฤติกรรมการกินอาหารแบบเดิมหรือมากกว่าเดิม
6.อ่อนเพลียอ่อนแรงแบบไม่มีสาเหตุ
อาจเกิดจากการที่มีเลือดออกในลำไส้ ปนออกมากับอุจจาระ หากเสียเลือดจากการขับถ่ายมากอาจมีภาวะซีด และโลหิตจางร่วมด้วย และยิ่งทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียอ่อนแรงต่อเนื่องมากขึ้นอีก
อาหารที่ควรเลือกรับประทาน
-อาหารที่มีแคลอรี่สูง
เนื่องจากผู้ป่วยหลายคนจะมีน้ำหนักตัวลดลงและอาจมีภาวะขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงจึงอาจช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ เช่น มันฝรั่ง เนยถั่ว นมข้นจืด ไอศกรีม คุกกี้ พุดดิ้ง คัสตาร์ด ดาร์กช็อกโกแลต เป็นต้น
-อาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำ
เช่น ขนมปังขาว ข้าวขัดขาว แตงโม มะละกอ เป็นต้น เพราะเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและช่วยให้ลำไส้ทำงานน้อยลง ยับยั้งอาการปวดท้องและท้องเสีย
-อาหารที่มีไขมันต่ำ
เช่น ไข่ขาว ถั่วลันเตา เนื้อไก่ ผักและผลไม้ เป็นต้น เนื่องจากอาหารที่มีไขมันสูงอาจกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้
-อาหารที่มีโซเดียมต่ำ
เช่น ผักและผลไม้สด เนื้อสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงอาหารที่ไม่ใส่เกลือ แพทย์มักให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารชนิดนี้ในระหว่างการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดการเกิดภาวะร่างกายบวมน้ำ
-อาหารที่ปราศจากแล็กโทส
เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรือน้ำนมข้าว เพราะผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้
-อาหารที่ปราศจากกลูเตน
เช่น ผักและผลไม้สด ไข่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ปีก เป็นต้น เพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้กลูเตน
-อาหารที่มีโอเมก้า 3
เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล ปลาซาดีน ปลาจาระเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากระพง ปลาช่อน เมล็ดแฟลกซ์ และถั่ววอลนัท จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบในช่วงที่อาการของโรคกำเริบขึ้น
-อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน
เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อสัตว์ปีก และไข่ เมื่ออาการของโรคกำเริบ ร่างกายจะสูญเสียโปรตีน ซึ่งการรับประทานอาหารเหล่านี้จะช่วยคืนโปรตีนให้แก่ร่างกาย
-อาหารประเภทโพรไบโอติกส์
อาหารในลักษณะนี้ เป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อการย่อยอาหารซึ่งพบได้ในโยเกิร์ต และควรเลือกรับประทานโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลน้อย เพราะน้ำตาลอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงได้
-ผักและผลไม้บางชนิด
เช่น อะโวคาโด เพราะเป็นแหล่งของโปรตีนและไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีแคลอรี่สูง และประกอบด้วยน้ำถึง 70 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ย่อยง่าย และแครอทซึ่งเป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอและสารต้านอนุมูลอิสระ หรือกล้วย ผลไม้ที่เป็นประโยชน์ต่อการย่อยอาหาร เป็นต้น
-น้ำดื่ม
การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากเมื่อโรคนี้กำเริบ ลำไส้จะไม่สามารถดูดซึมของเหลวได้ตามปกติ หากดื่มน้ำไม่เพียงพอจึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำตามมา
อาหารที่ควรเลี่ยง
-ผักผลไม้ที่กระตุ้นการทำงานของลำไส้
เช่น ผลไม้สด ผักที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ผักที่มีเปลือก ผลไม้ตากแห้ง เบอร์รี่ ข้าวโพด และธัญพืช เพราะมักทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยปวดท้องและอาการป่วยอื่น ๆ แย่ลงได้
-ผลิตภัณฑ์จากนม
เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยท้องเสีย ปวดท้อง และมีแก๊สในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่แพ้น้ำตาลแล็กโทส
-อาหารที่มีไขมันสูง
รวมถึงของทอดและของมัน เพราะอาจทำให้ท้องเสียได้
-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ท้องเสีย หรือทำให้อาการต่าง ๆ แย่ลง
-เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น ซึ่งอาจกระตุ้นการทำงานของลำไส้จนเกิดอาการท้องเสียและเป็นเหตุให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
-น้ำอัดลมและโซดา
น้ำอัดลมและโซดา อาจทำให้ท้องอืด และเกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ น้ำอัดลมยังประกอบไปด้วยน้ำตาลและคาเฟอีน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการป่วยกำเริบได้
-อาหารที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน
เช่น เนื้อแดง ชีส ขนมปัง นม อัลมอนด์ ลูกเกด ลูกพรุน ผักในตระกูลกะหล่ำ เป็นต้น เนื่องจากอาหารดังกล่าวอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารเป็นจำนวนมาก
-อาหารที่มีรสเผ็ด
เป็นเหตุให้ผู้ป่วยท้องเสีย และอาจกระตุ้นให้อาการกำเริบหรือแย่ลงได้
-อาหารที่มีกลูเตน
เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโอ๊ตบางชนิด จะกระตุ้นให้อาการกำเริบสำหรับผู้ที่แพ้กลูเตน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลเปาโล และ pobpad.com