xs
xsm
sm
md
lg

แค่ยุงลายกัด ก็อาจจะเป็น “โรคชิคุนกุนยา” ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในบางครั้ง หลายๆ คนอาจจะเคยถูกยุงลายกัดมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่สภาวะที่เกิดเหตุตามแต่ช่วงเวลา ซึ่งเชื่อว่าบางคนก็แค่ปัดๆ หรือปล่อยวางให้โดนกัดไป แต่น้อยคนจะทราบหรือไม่ว่า การโดนสัมผัสนั้น มันอาจจะร้ายบแรงเป็น “โรคชิคุนกุนยา” ก็เป็นได้ และนั่นมันอาจจะทรงผลร้ายแรงกว่าที่คิด...

“โรคชิคุนกุนย่า” คืออะไร

โรคชิคุนกุนยา เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ คศ. 1952 โดย ‘ชิคุนกุนยา’ เป็นภาษาชนเผ่าในประเทศแทนซาเนีย แปลว่า โค้งงอ (ปวดจนตัวงอ) เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Chikungunya ซึ่งเป็นไวรัสคนละกลุ่มกับไข้เลือดออก และไข้ไวรัสซิก้า มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ ยุงลายบ้าน และยุงลายสวน

สำหรับโรคนี้นั้น เป็นโรคติดเชื้อไวรัสติดต่อโดยยุงลาย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงและมีอาการปวดข้อ มักจะไม่เสียชีวิต แต่อาการปวดข้ออาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหาย มีอาการคล้ายไข้เดงกี แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก

โดยระยะฟักตัวโดยทั่วไปของโรคนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน ส่วนระยะติดต่อ เป็นระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2–4 เป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก


อาการของโรค

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่

หากเกิดโรคในผู้ใหญ่ อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่ก็ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบ tourniquet test ให้ผลบวก และจุดเลือดออกบริเวณผิวหนังได้


การรักษา

ในการรักษาโรคชิคุนกุนย่านั้น ก็ให้รักษาตามอาการของโรคแพทย์ อาจให้ยาแก้ปวด หรือยาในกลุ่มต้านอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อ


การป้องกัน

-ป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด
-ทำความสะอาดบ้านให้สะอาด ป้องกันไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
-ระวังไม่ให้มีน้ำท่วมขัง เก็บเศษขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
-ควรให้เด็กเล็กนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุง
-ให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวเพื่อป้องกันยุงกัด

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา


กำลังโหลดความคิดเห็น