การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ สิ่งที่ควรทำเลยก็คือ เช็กปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป เพื่อให้ร่างกายสามารถรองรับความอิ่มในแต่ละมื้อ และในขณะเดียวกัน ก็ต้องเช็กรสชาติที่รับประทานเข้าไปด้วย ซึ่งถ้ารับประทานรสเค็มมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน
สัญญาณเตือนว่า “กินเค็มมากไปแล้ว”
-มีความชอบกินอาหารแปรรูปเป็นประจำ
ยิ่งหากกินทุกวันยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมเกิน ในกลุ่มของอาหารแปรรูปจะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบและมีปริมาณที่มาก กว่าอาหารในกลุ่มของผัก ผลไม้สด รวมถึงกลุ่มข้าว ธัญพืช ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคนในประเทศทางตะวันตกได้รับเกลือเกือบ 80 เปอร์เซนต์ โดยมาจากอาหารแปรรูปที่เติมโซเดียมเพื่อให้รสชาติเข้มข้น และยืดอายุการเก็บรักษา
ฉะนั้น ผู้ที่ชอบกินอาหารแปรรูปมักจะชอบกินอาหารรสชาติเค็มมากกว่าผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารแปรรูป
-มีการพบโซเดียมสูงในเลือด
หมายถึงว่า พบค่าโซเดียมในเลือดสูงมากว่า 145 mmol/L โดยอาการแสดง เช่น คอแห้ง กระหายน้ำ ปวดศีรษะ อารมณ์หงุดหงิด หากวัดความดันโลหิตจะพบความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการไหลเวียนของเลือด ช็อก หมดสติได้
-เกิดการบวมในร่างกาย
เนื่องมาจากเกลือสามารถทำให้เกิดการกักน้ำในร่างกายเพื่อใช้ในการละลายความเข้มข้นของโซเดียมสามารถสังเกตุได้จากท้องป่อง หน้าบวม แขนบวม
-ชอบกินอาหารรสจัด
เพราะอาหารส่วนใหญ่ที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด จะมีความเค็มตามมาด้วย
-ชอบกินขนมหรือของว่างที่ชอบกินมักจะอยู่ในรูปของขนมกรุบกรอบ ขนมกระป๋อง เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ปลาหมึกกรอบ ถั่วทอด ขนมปังกรอบ
-ชอบเติมเกลือ ซีอิ๊ว น้ำปลา หรือ ซอสต่าง ๆ ในอาหารก่อนกิน
กินรสเค็มมากเกินไปอาจเสี่ยงโรค ดังนี้
-โรคไต
การได้รับโซเดียมปริมาณมากอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้นจากการกำจัดโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไต
-โรคกระดูกพรุน
การได้รับโซเดียมที่มากขึ้น อาจจะส่งผลให้ร่างกายนั้นขับแคลเซียมที่จำเป็นต่อการสร้างและคงความแข็งแรงของกระดูกออกไปทางปัสสาวะมากยิ่งขึ้น จึงอาจทำให้กระดูกบาง เสี่ยงต่อภาวะเปราะหักง่ายขึ้น รวมถึงอาจเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุน
-โรคหลอดเลือดหัวใจ
ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มความดันโลหิตของโซเดียมอาจส่งผลให้หลอดเลือดและหัวใจนั้นทำงานหนักมากยิ่งขึ้น จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
-โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
มีงานวิจัยพบว่าเกลือนั้นอาจช่วยให้แบคทีเรียในท้องเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสร้างความเสียหายให้กับเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลายการศึกษาเท่านั้น และในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกลือนั้นเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อย่างไร
ในขณะเดียวกัน แม้ว่าโรคที่เกิดจากการกินเค็มอาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ก็มีคนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติจากการกินโซเดียมมากกว่าคนทั่วไป เช่น
-ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
-ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง
-ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินเค็มให้ลดลง
-เลือกกินอาหารสดจากธรรมชาติให้มากขึ้น เน้นผัก ผลไม้สด
-ลดการกินอาหารแปรรูป
-อ่านฉลากโภชนาการเป็นประจำ เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมือนกันแต่มีปริมาณของโซเดียมให้น้อยที่สุด หรือเลือกดูบรรจุภัณฑ์ที่มีคำว่า ลดการใช้เกลือ หรือ Low sodium
-เลือกน้ำเปล่าแทนที่น้ำหวานหรือน้ำผลไม้ เนื่องจากน้ำผลไม้ในปัจจุบันบางครั้งมีการเติมเกลือลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ แต่จะยิ่งทำให้เราติดรสเค็มมากยิ่งขึ้น
-ชิมรสชาติอาหารก่อนปรุง เครื่องปรุงรสเค็ม
-ตั้งเป้าหมายในการกินเพื่อลดความเค็มลง โดยลดการเติมเครื่องปรุงในอาหาร
- เมื่อต้องออกไปกินอาหารนอกบ้าน อาจขอแยกซอสปรุงรสต่าง ๆ หรือขอเค็มน้อยแทน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลบางปะกอก และ Pobpad.com