ขึ้นชื่อว่าอาหารแล้วนั้น ทุกคนคงจะต้องรับประทานสิ่งนี้เข้าไป เพื่อเพิ่มพลังงานและอาจจะเอร็ดอร่อยบ้างในบางมื้อแล้วแต่บุคคลกันไป แต่หากถ้าเลยเถิดจากที่ว่ามาจนกลายเป็นรับประทานมากจนเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิด “ภาวะไขมันพอกตับ” ได้อย่างไม่รู้ตัวเช่นเดียวกัน
สำหรับ ‘ภาวะไขมันพอกตับ’ เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับมากเกินปกติ ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนักไขมันที่เข้าไปแทรกตับนั้น มักจะเป็นชนิดไตรกลีเซอไรต์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้การทำงานของตับเกิดความผิดปกติได้ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ส่งผลต่อการเจ็บปวด แต่ก็เป็นสัญญาณภัยเงียบและนำไปสู่โรคอื่น ๆ ได้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิด “ภาวะไขมันพอกตับ” ได้นั้น มี 2 กลุ่ม คือ
1.จากการดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ เพศ ประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่ม
2.จากปัจจัยเสี่ยงอื่น ได้แก่
-กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสูงของร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และ โรคความดันโลหิตสูง
-การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ คือ แป้ง น้ำตาล และ ไขมัน
-ภาวะผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ยาปฎิชีวนะบางชนิด บาต้านไวรัสบางชนิด ยากลุ่มสเตียรอยด์ และยากลุ่มต้านฮอร์โมนส์
กลุ่มเสี่ยง
1.ผู้ที่มีภาวะอ้วน โดยแบ่งเป็น ผู้ชายมีรอบเอวเกิน 40 นิ้ว ส่วนผู้หญิงจะอยู่ที่ 35 นิ้ว
2.ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร
3.ผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
4.ผู้ที่มีไขมันดี หรือ HDL ต่ำ ผู้ชายน้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนผู้หญิง จะน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
5.ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
ระยะของ “ภาวะไขมันพอกตับ”
-ระยะแรก เป็นระยะที่ไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบหรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ
-ระยะที่สอง เป็นระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ ซึ่งหากละเลยไปจนเกิดการอักเสบเกินกว่า 6 เดือน อาจเป็นตับอักเสบเรื้อรังได้
-ระยะที่สาม เมื่อเกิดพังผืด จะเกิดการอักเสบรุนแรงตื่อเนื่อง และเซลส์ตับก็ค่อย ๆ ถูกทำลายลงในที่สุด
-ระยะที่สี่ เมื่อเซลส์ตับถูกทำลายไปมาก จนตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับได้
โดยการวินิจฉัยนั้น สามารถทำได้โดยการตรวจเลือด การตรวจอัลตราซาวน์ การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการเจาะชิ้นเนื้อตับ เพื่อทำการตรวจสอบวินิจฉัยว่าจะเป็นภาวะดังกล่าวหรือไม่
วิธีการรักษา
1.หากมีน้ำหนักตัวที่มากควรลดน้ำหนักโดยให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยลดน้ำหนักไม่ควรเกินร้อยละ 7 ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน
2.ออกกำลังกายเป็นประจำ สัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละ 30 นาที
3.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารที่มีไขมันต่ำ กากไยสูง และให้พลังงานต่ำ
4.ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ร่วมกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
5.หลีกเลี่ยงการรับประทานยา นอกเหนือจากที่ทางแพทย์สั่ง
6.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
7.ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์