เชื่อได้เลยว่า คนรักสุขภาพที่ชอบออกกำลังกาย อาจจะต้องเจอปัญหาบ้าง โดยเฉพาะ ภาวการณ์ปวดหลังจากออกกำลัง ซึ่งก็มีข้อสงสัยเหมือนกันว่า หากเกิดภาวะดังกล่าวนี้ ควรทำอย่างไรดี ฉะนั้น เรามาหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้กันเลยดีกว่า
สำหรับอาการปวดหลังออกกำลังกายนั้น สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1.อาการปวดเฉพาะจุด หรือขยับแล้วเจ็บแปลบ
โดยอาการปวดในข้อแรก คือการปวดที่เกิดจากการบาดเจ็บ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกิดมาจากการออกกำลังกายผิดท่า จนส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ คือ
-กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรง
-ข้อเท้าเคล็ด
-หัวเข่าบาดเจ็บ
-เอ็นฉีก
ซึ่งหากใครมีอาการแบบนี้ มีข้อแนะนำ คือ ‘ห้าม’กลับไปออกกำลังกายซ้ำโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้บริเวณที่บาดเจ็บอักเสบมากยิ่งขึ้น และควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยทันที
แต่ถ้าหากปฐมพยาบาลแล้วยังไม่หาย หรือมีอาการปวดมากขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางโดยด่วน ไม่เช่นนั้นอาจเรื้อรังจนไม่สามารถกลับไปใช้กล้ามเนื้อหรือข้อต่อเหล่านั้นได้อย่างปกติ
2.อาการปวดเมื่อย กล้ามเนื้อตึง ระบม มีอาการล้า เคลื่อนไหวลำบาก
ส่วนอาการปวดในแบบที่สอง ถือเป็นอาการปวดปกติที่พบได้ทั่วไป ซึ่งอาการปวดลักษณะนี้ จะหมายถึงร่างกายของคุณกำลังจะฟิตขึ้นแล้วนั่นเอง
เพราะอาการปวดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกายในลักษณะนี้ จะมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า DOMs หรือ Delayed Onset Muscle soreness ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังยกเวทมาหนักๆ วิ่งแบบหนักหน่วง หรือมีการใช้กล้ามเนื้อในจุดเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน จะเกิดขึ้นหลังออกกำลังกายประมาณ 12-24 ชั่วโมง และจะปวดมากขึ้นในช่วง 24-72 ชั่วโมง หลังจากนั้นร่างกายจะซ่อมแซมตัวเองจนอาการปวดค่อยๆ หายไปเองในที่สุด
แล้วควรออกกำลังกายซ้ำตรงจุดเดิมจริงหรือไม่?
โดยอาการปวดกล้ามเนื้อแบบ DOMs สามารถหายเองได้ภายใน 2-3 วัน แต่มีความเชื่อที่ว่าการออกกำลังกายซ้ำในจุดเดิมจะช่วยให้หายปวดไวขึ้น ทั้งบางคนยังเชื่อว่ายิ่งเจ็บก็จะยิ่งช่วยสร้างกล้ามเนื้อได้มากขึ้นอีก
แม้อาการปวดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความฟิตแอนด์เฟิร์ม แต่อันที่จริงหากเราออกกำลังกายซ้ำในจุดเดิมทันทีอาจทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นจนอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บรุนแรงกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อไม่พัฒนา นอกจากนั้น การออกกำลังกายทั้ง ๆ ที่ร่างกายยังปวดเมื่อยอยู่ ยังทำให้เราถอดใจและยอมแพ้ได้ง่าย ถือเป็นการบั่นทอนกำลังใจตัวเองอีกด้วย
ดังนั้น สิ่งที่ควรทำ คือ
1.หยุดพักเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซม และทานอาหารประเภทโปรตีนให้มากขึ้นเพื่อช่วยเร่งในกระบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
2.ดื่มน้ำให้มาก เพื่อเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย ซึ่งช่วยลดอาการปวดเมื่อย และอาการชาลงได้
3.พักผ่อนให้เต็มที่เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ฟื้นฟูขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งถ้าใครไม่อยากหยุดพัก ก็สามารถเลือกออกกำลังกายในส่วนอื่น ๆ แทน เช่น หากปวดกล้ามเนื้อแขนจากการเวท วันถัดไปให้เปลี่ยนไปเล่นเวทที่ส่วนขา เพื่อให้กล้ามเนื้อแขนได้พักและฟื้นฟูตัวเองก่อน แล้วค่อยกลับมาออกกำลังกายซ้ำตรงจุดเดิม หมุนเวียนสับเปลี่ยนไปเช่นนี้จะช่วยให้เราออกกำลังกายได้โดยไม่ต้องหยุดพักนั่นเอง
แต่สิ่งสำคัญอย่างสุดท้าย คือ การดูแลสภาพจิตใจให้เป็นปกติ ไม่เครียด เพราะบางคนอาจรู้สึกเครียดเมื่อมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น เครียดที่ต้องหยุดพัก กลัวจะไม่ฟิต หรือกลัวที่จะกลับไปออกกำลังกายไม่ได้อีก
แต่รู้หรือไม่ว่ายิ่งเครียดมากเท่าไหร่ ความเครียดก็จะยิ่งไปชะลอการรักษาซ่อมแซมภายในร่างกายของเรา ดังนั้น การดูแลจิตใจให้ดี หยุดเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน อาการปวดก็จะหายไป และกลับมาออกกำลังกายแบบปกติได้แน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก : ofm.co.th