การเปลี่ยนแปลงร่างกายจากวัยเด็กเข้าสู่ช่วงหนุ่มสาวนั้นคงเป็นเรื่องปกติของเด็กทุกคน แต่หากการเปลี่ยนแปลงนั้นมาก่อนเวลาที่ควรจะเป็น อาจเป็นสัญญาณของภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้ตัวเตี้ยเมื่อเป็นผู้ใหญ่หรือกระทบจิตใจของเด็กได้
ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย คือ ภาวะที่เป็นหนุ่มสาวก่อยวัยหรือเด็กมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าปกติ สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและชาย โดยจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 8-20 เท่า พ่อแม่และคนรอบตัวควรหมั่นสังเกตเพราะว่ามักแฝงความผิดปกติอยู่
สาเหตุภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยจำแนกได้ 2 ชนิด
- การเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยชนิดพึ่งโกนาโดโทรฟิน หรือ True Precocious Puberty หมายถึง ภาวะที่ต่อมใต้สมองมีการทำงานก่อนวันอันควร สร้างฮอร์โมนโกนาโดโทรปินส์มากขึ้น ซึ่งในเพศหญิงจะไปกระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเพศหญิง และในเพศชายจะไปกระตุ้นอัณฑะให้สร้างฮอร์โมนเพศชาย ทำให้เกิภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย
- การเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยชนิดไม่พึ่งโกนาโดโทรฟิน หรือ Peripheral Precocious Puberty หมายถึง ภาวะอวัยวะส่วนปลาย เช่น รังไข่ในเพศหญิง อัณฑะในเพศชาย หรือต่อมหมวกไตที่สร้างฮอร์โมนเพศและรวมถึงผู้ป่วยที่เกิดการพัฒนาของลักษณะทางเพศทุติยภูมิจากการสัมผัสถูกฮอร์โมนภายนอก
อาการที่แสดงถึงภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย
เพศหญิง
-เริ่มคลำได้ลานเต้านมก่อนอายุ 8 ปี
-ตัวสูงเร็วกว่าเพื่อน
-มีตกขาวหรือประจำเดือนมาก่อนอายุ 9 ปีครึ่ง
-มีสิว หน้ามัน กลิ่นตัว ขนรักแร้ ขนที่อวัยวะเพศเกิดขึ้นก่อนอายุ 8 ปี
เพศชาย
-มีการขยายตัวของอัณฑะหรือองคชาติก่อนอายุ 9 ปี
-ตัวสูงเร็วกว่าเพื่อน
-มีหนวด สิว หน้ามัน เสียงแตก กลิ่นตัว ขนรักแร้ และขนที่อวัยวะเพศก่อนอายุ 9 ปี
ผลกระทบจากภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย
ด้านร่างกาย จะมีการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าคนในวัยเดียวกัน ฮอร์โมนจะทำให้กระดูกโตเร็วและปิดเร็ว หยุดการเจริญเติบโตและสิ่งที่ตามมาคือระยะเวลาในการเจริญเติบโตในวัยเด็กสั้นลง
ด้านจิตใจ ในเพศหญิงจะมีสรีระภายนอกเป็นสาววัยรุ่น ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างวุฒิภาวะทางร่างกายและจิตใจ อาจนำไปสู่การล่อลวงได้ง่าย นอกจากนี้ด้วยสรีระที่แตกต่างจากเพื่อนวัยเดียวกันอาจนำไปสู่การถูกล้อเลียนและแยกตัวออกจากเพื่อนในบางราย
ในเพศชาย เนื่องจากฮอร์โมนที่สูงกว่าปกตินำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง และมีอารมณ์ทางเพศ
แนวทางการป้องกัน
การป้องกันการเกิดภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยที่ง่ายที่สุด คือ การควบคุมดูแลน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานและรับประทานอาการตามโภชนาการที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
การรักษาหากเกิดภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย
หากมีภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยสามารถเข้าพบแพทย์เพื่อฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อไปยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนโกนาโดโทรปินส์จากต่อมใต้สมองที่ทำให้เกิดภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยได้
ทั้งนี้พ่อแม่หรือคนรอบตัวควรใส่ใจและหมั่นสังเกต เพื่อให้บุตรหลานมีการเจริญเติบโตที่เป็นไปตามวัยอย่างเหมาะสมเพื่อให้มีศักยภาพในการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่
ข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก :
โรงพยาบาลกรุงเทพ (https://rb.gy/kjkzhr)
โรงพยาบาลรามคำแหง (https://rb.gy/13rty9)
โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ (https://rb.gy/zwckxo)
ข่าวโดย : พงษ์ศักดิ์ วัฒนศฤงฆาร