xs
xsm
sm
md
lg

เช็กด่วน! คุณมีภาวะโลหิตจางหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โลหิตจางหรือภาวะซีด เป็นภาวะที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติทำให้มีการผลิตออกซิเจนได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายมีอาการผิดปกติ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และสามารถพบได้ในคนทั่วไป โดยอาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเม็ดเลือดแดงในร่างกายและความสามารถในการปรับตัวของแต่ละบุคคล


สาเหตุของโลหิตจาง เกิดได้จาก

-การสร้างเม็ดเลือดแดงที่น้อยลง ซึ่งมีปัจจัยมาจากการขาดสารอาหาร ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะธาตุเหล็ก วิตามินบี12 หรือกรดโฟลิก มีภาวะโรคเกี่ยวกับกระดูกและโรคเรื้อรังบางชนิดที่อาจส่งผลกระทบต่อเม็ดเลือดแดง เช่น โรคมะเร็ง HIV หรือโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน การตั้งครรภ์โดยเฉพาะช่วงอายุครรภ์ 6 เดือนแรกเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในเลือด และขาดสารอาหารประเภทเหล็กและกรดโฟลิก

- การทำลายเม็ดเลือดแดงที่มากกว่าปกติในร่างกาย เป็นผลมาจากการติดเชื้อหรือโรคในกลุ่มที่เป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากกว่าปกติ เช่น ธาลัสซีเมีย

- ฮอร์โมน ภายในเลือดจะมีฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (erythropoietin) ที่ผลิตได้จากไต มีหน้าที่ในการกระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง แต่เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนชนิดนี้ต่ำกว่าปกติจะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดจางได้

-การเสียเลือดอย่างฉับพลัน เช่น การเกิดอุบัติเหตุ การตกเลือด หรือภาวะหลังคลอดบุตร หรืออาจค่อย ๆ เสียเลือดเรื้อรัง เช่น การเสียเลือดในประจำเดือนเสียเลือดในทางเดินอาหาร ซึ่งมักจะทำให้มีการขาดธาตุเหล็กตามมา


อาการความเสี่ยงของโลหิตจาง มีดังนี้


- เบื่ออาหาร
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- ตัวซีดเหลือง
- อารมณ์แปรปรวน
- หายใจลำบากขณะออกแรง
- มึนงง วิงเวียนศีรษะ
- เจ็บหน้าอก ใจสั่น
- หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้หัวใจล้มเหลว
* หากมีอาการเรื้อรังอาจพบอาการมุมปากเปื่อย เล็บอ่อนแอและแบน หรือเล็บเงยขึ้นมีแอ่งกลางคล้ายช้อน


การป้องกันภาวะโลหิตจาง


- เลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก วิตามิน และสารอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ตับหมู นม ไข่ เลือดหมู ธัญพืช ผักปวยเล้ง เป็นต้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโฟลิกและธาตุเหล็ก
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโลหิตจางควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางพันธุกรรม


การรักษาโลหิตจาง

การรักษาโรคโลหิตจางมีลักษณะการรักษาที่ไม่เจาะจงอย่างบอกได้ชัด จึงต้องทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัดก่อนถึงจะสามารถทำการรักษาได้ เนื่องจากการรักษาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สาเหตุ ความรุนแรง ซึ่งเป้าหมายของการรักษา คือ การเพิ่มความสามารถในการลำเลียงออกซิเจนในร่างกายได้มากขึ้น โดยวิธีรักษาจะประกอบไปด้วย

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและวิตามินเสริม เนื่องจากภาวะโลหิตจางบางประเภทเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารไม่เพียงพอหรือภาวะบางอย่างจากโรค ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงและวิตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินบี12 กรดโฟลิก และวิตามินซีที่ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก

รับประทานยาหรือฮอร์โมน ในบางรายแพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางรับประทานฮอร์โมนหรือวิธีทางแพทย์อื่นๆเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้มากขึ้นหรือรักษาภาวะโลหิตจางจากบางสาเหตุ

เปลี่ยนถ่ายเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางรุนแรงหรือมีระดับของฮีโมโกลบินต่ำกว่า 8 กรัมต่อเดซิลิตร แพทย์แนะนำเป็นการรักษาด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายเลือด

ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดและไขกระดูก โดยการนำเซลล์ต้นกำเนิดที่ปกติไปแทนเซลล์ที่มีความผิดปกติเพื่อช่วยให้การสร้างเม็ดเลือดแดงมีปริมาณมากขึ้น

ผ่าตัด เพื่อช่วยรักษาการเสียเลือดมากในอวัยวะนั้นๆจากโรคเรื้อรังบางชนิดแต่ในกรณีที่ตรวจไม่พบอาการเลือดออกจากอวัยวะอื่นแต่มีอาการซีดรุนแรงและมัามโต แพทย์จะพิจารณาให้ตัดม้ามออกเพราะเกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงในม้าม

หากสงสัยว่ามีภาวะเป็นโลหิตจางควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขและวินิจฉัยอาการก่อนเพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งถ้าหากเป็นในภาวะที่รุนแรงแล้วอาจนำไปสู่อันตรายในอนาคตได้

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก
เว็บไซต์พบแพทย์ (https://rb.gy/5rqfjs)
โรงพยาบาลศิครินทร์ (https://rb.gy/v8rjeo)

ข่าวโดย : พงษ์ศักดิ์ วัฒนศฤงฆาร


กำลังโหลดความคิดเห็น