xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง 6 โรคเสี่ยง! ของเด็กในช่วงหน้าฝน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าฤดูฝนในประเทศไทยนั้น ใกล้จะสิ้นสุดลง แต่เรื่องโรคภัยนั้น เรียกได้ว่าต้องมีการระมัดระวังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาผู้ปกครองที่ต้องมีการกังวลกับบุตรหลานของแต่ละบ้าน ที่โรคภัยมากับฤดูฝน ที่ต้องเฝ้าดูอาการ เพื่อให้ผ่านพ้นไปให้ได้เช่นเดียวกัน กับโรคภัยที่มาในช่วงเวลาดังกล่าวนี้


6 โรคที่เด็กมักเสี่ยง! ในช่วงหน้าฝน


-โรคไข้หวัดใหญ่

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย และมีการพบได้เกือบทั้งปี เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น แต่จะเป็นกันมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน โดยไข้หวัดใหญ่จะมีความแตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ซึ่งอาการหลัก ๆ เด็ก ๆ จะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอ หรือเจ็บคอ ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสเสี่ยงและมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น


-โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค แถมมีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทุกพื้นที่ ซึ่งถ้าได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป และมีอาการ คือ ไข้สูงมาก กินยาลดไข้เท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล ปวดหัว ปวดกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว มีอาการหน้าแดง ปากแดง แถมยังสามารถเป็นได้ในทุกพื้นที่ ทั้งในเมืองและนอกเมือง


-โรคมือเท้าปาก

ส่วนโรคมือเท้าปากนั้น จะเกิดจากเชื้อไวรัส คือ Enterovirus 71 และ Coxsackie โดยพบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน สำหรับกลุ่มอาการของโรคนี้ คือ เด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี แต่อาการมักจะหายได้เองภายใน 3 – 10 วัน และสามารถติดต่อทางการไอ จาม น้ำลาย หรืออุจจาระ มีระยะฟักตัว 3 – 6 วัน พบเชื้อทางน้ำลาย 2 – 3 วัน ก่อนมีอาการ จนถึง 1 – 2 สัปดาห์หลังมีอาการ


-โรคอีสุกอีใส

เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นกันบ่อย แต่มักจะเป็นในบางช่วง เมื่อเป็นแล้วมักจะติดกันโดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน กลุ่มอาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้องลามไปต้นแขน ขา และใบหน้า

หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ดและเป็นแผลขึ้น มักหายได้เองประมาณ 2-3 สัปดาห์ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป ซึ่งเป็นวัคซีนเสริมยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด


-โรคไอพีดีและปอดบวม

ขณะที่ โรคไอพีดี หรือที่เรียกว่า Invasive Pneumococcal Disease (IPD) คือ โรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ซึ่งเชื้อโรคดังกล่าวนี้ ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง และอาจจะทำให้มีความรุนแรงและอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ต้องมีความระมัดระวังในโรคนี้อย่างยิ่ง 
 
ถามว่า ถ้าติดเชื้อดังกล่าว จะส่งผลอย่างไร กล่าวคือ ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม และชักได้ ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง งอแง ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดีถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบพามาพบแพทย์ทันที 
 
นอกจากนี้เชื้อ “นิวโมคอคคัส” ยังเป็นสาเหตุหลักของโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลการประเมินขององค์กรอนามัยโลกและยูนิเซฟพบว่า ปอดบวมเป็นโรคที่คร่าชีวิตเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีเด็กที่เสียชีวิตจากโรคนี้สูงถึง 2 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าโรคเอดส์ มาลาเรีย และหัดรวมกัน


-โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง

โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง เกิดขึ้นเพราะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ “โรต้าไวรัส” ซึ่งมาจากของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เข้าใจเรื่องของสุขอนามัย จึงมักนำของเล่น หรือของใช้ที่มีเชื้อนี้เข้าปากโดยไม่รู้ตัว จากนั้นจะถูกขับออกทางอุจจาระของผู้ป่วย เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า ในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบแทบทุกคนจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว 
 
ขณะเดียวกัน “ไวรัสโรต้า” ก็เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยจากสถิติทั่วโลกและในประเทศไทยพบว่า ไวรัสชนิดนี้ เป็นสาเหตุหลักทำให้เด็กป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคอุจจาระร่วงถึงปีละประมาณ 6 แสนคน  

ส่วนอาการส่วนใหญ่จะพบว่า ท้องเสีย อาเจียน บางรายจะมีไข้สูง กินได้น้อย งอแง ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นเด็กทารกควรให้กินนมแม่จะช่วยได้ระดับหนึ่ง และดูแลสุขลักษณะการกิน การเล่นให้เหมาะสม ต้องสะอาด ขณะเดียวกันไม่ควรพาเด็กเข้าเนิร์สเซอร์รีเร็วเกินไป เพราะเด็กที่อยู่ด้วยกันเยอะ ๆ การแพร่กระจายของเชื้อจะมีได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ทาง นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ก็ได้ให้คำแนะนำกับทางผู้ปกครอง ที่ต้องดูแลสุขภาพของบุตรหลานในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งแบ่งได้เป็นข้อๆ ดังนี้

1.ทำการสอนใช้หน้ากากอนามัยให้เด็กเช็ดน้ำมูก ปิดปากปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ล้างมือเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ป่วย

2.ให้บุตรหลาน ทำการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยลงได้

3.ให้กินอาหาร ครบ 5 หมู่ เน้นปรุงสุก กินผักหรือผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซี ดื่มน้ำอุ่นให้มาก ๆ โดยอาหาร ที่ปรุงประกอบควรใส่ใจ ถึงความสะอาดตามหลักสุขาภิบาล เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารเป็นพิษ หากพบว่าเด็กมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง และอ่อนเพลียมาก ควรรีบพบแพทย์ทันที

4.ให้เด็กได้เล่น ออกแรง ออกกำลังกาย หรืออาจจะเป็นการ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลบางปะกอก และ กรมอนามัย


กำลังโหลดความคิดเห็น