xs
xsm
sm
md
lg

“มะระขี้นก” หนึ่งในสมุนไพรที่มีประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘หวานเป็นลม ขมเป็นยา’ หลาย ๆ คนได้ยินคำกล่าวที่ว่านี้ คงต้องนึกถึงอะไรที่รับประทานไปแล้วเกิดอาการดังว่า ซึ่งสมุนไพรอย่าง ‘มะระขี้นก’ ก็เข้าข่ายทุกคำ ซึ่งแม้ว่าตอนรับประทานไป อาจจะไม่ถูกปากถูกคอเท่าไหร่ แต่ทราบหรือไม่ว่าสมุนไพรนี้แหละ ที่มีประโยชน์ต่าง ๆ มากมายต่อร่างกายของเรา


ประโยชน์ของ “มะระขี้นก”

ในส่วนประกอบของ ‘มะระขี้นก’ นั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

-น้ำต้มรากมะระขี้นก

ใช้ดื่มเป็นยาลดไข้ บำรุงธาตุ เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวงทวาร แก้บาดแผลอักเสบ

-ใบ

ช่วยเจริญอาหาร ช่วยระบาย

-น้ำคั้นใบดื่ม

เป็นยาทำให้อาเจียน บรรเทาอาการท่อน้ำดีอักเสบ

-ดอก

ชงกินกับน้ำแก้อาการหืดหอบ

-ผล

สามารถกินเป็นยาขม ช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ขับพยาธิ แก้ตับและม้ามอักเสบ หรือจะคั้นน้ำมะระดื่มสัปดาห์ละไม่เกิน 1 แก้ว เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นยาระบาย

-เมล็ด

ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม

แต่อย่างไรก็ตาม มะระขี้นกมีฤทธิ์เย็น จึงมีคำแนะนำว่าไม่ควรกินติดกันเกินไป เว้นระยะกินอาหาร กินผักอย่างอื่นบ้างให้ร่างกายเกิดสมดุล แล้วจึงกลับมากินมะระได้อีก


ผลข้างเคียงของ “มะระขี้นก”

แม้ว่าจะมีคุณสมบัติอยู่พอสมควร แต่การใช้มะระขี้นกรักษาอาการของโรคใด ก็ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์แผนไทยอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาการไม่พงประสงค์ที่พบได้ เมื่อบริโภคมะระขี้นกมากเกินไปแบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

-ระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ ง่วงซึม

-ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด และคลื่นไส้อาเจียน

-ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน

-ระบบผิวหนัง ได้แก่ ผื่น คัน

-ระบบอื่น ๆ ได้แก่ ใจสั่น เพิ่มความอยากอาหาร

ในขณะเดียวกัน ผลมะระขี้นกที่สุกแล้วจะมีสารซาโปนินในปริมาณมาก หากรับประทานอาจทำให้มีอาการอาเจียน ท้องร่วง และอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

เช่นเดียวกัน ในส่วนของผู้ที่มีภาวะม้ามเย็นพร่อง กระเพาะเย็นพร่อง เมื่อรับประทานมะระขี้นกเข้าไปอาจจะมีการอาเจียน ถ่ายท้องปวดท้องได้


วิธีการรับประทาน “มะระขี้นก”

มะระขี้นกมีรสขม จึงเป็นที่นิยมกินในหมู่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ผลอ่อนนำไปต้มหรือเผากินได้ทั้งลูก ผลแก่ต้องนำมาผ่ากลาง คว้านเมล็ดออกเสียก่อน

ส่วนวิธีลดความขมของมะระนั้น ก่อนนำไปปรุงเมนูอื่น ๆ คือให้ต้มน้ำเดือดจัด ใส่เกลือ ต้มมะระจนสุกแล้วเทน้ำทิ้งเพื่อลดความขม หรือจะคั้นกับน้ำเกลือก็ได้ จากนั้น จะเอาไปทำแกงเผ็ด พะแนง แกงคั่ว แกงเห็ดแบบอีสาน หรือผัดไข่ก็ได้เช่นกัน

อีกวิธีกินมะระขี้นกเป็นยา คือให้ผ่า คว้านไส้ในออก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วปั่นแบบแยกกาก ดื่มแก้วเล็ก ๆ หลังอาหารเช้าหรือเย็น ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านมะเร็ง ดีต่อระบบย่อยอาหาร และผู้ป่วยเบาหวาน

ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, หมอชาวบ้าน และ disthai.com


กำลังโหลดความคิดเห็น