“หนังตาตก” เป็นอาการที่ค่อนข้างน่าเห็นใจอย่างยิ่ง เพราะส่งผลกระทบต่อการมองเห็นอย่างชัดเจน และยิ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาวะที่ว่านี้ ก็ได้ถูกพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง จนหลาย ๆ คนก็ได้กลับมาให้ความสำคัญ ว่าแต่อาการดังกล่าวนี้ เป็นอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกัน
สำหรับ “ภาวะหนังตาตก” นั้น จุดเริ่มมาจากเปลือกตาที่ช่วยในเรื่องต่าง ๆ ทั้งป้องกันแสงต่าง ๆ เช่น แสงสว่าง แสงไฟฟ้า ฝุ่นละออง หรือ สิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาในตาเราได้ เกิดการตกลงมาบดบังในการมองเห็น ซึ่งโดยปกติแล้ว หนังตาบนจะต้องคลุมตาดำไม่เกิน 2 มิลลิเมตร แต่ถ้าตกลงมาก็จะทำให้เกิดภาวะดังกล่าวนั่นเอง
ถามว่าภาวะหนังตาตกนั้นเกิดกี่ประเภท ก็คงแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ คือ
1.กลุ่มที่เป็นมาตั้งแต่เกิด
ผู้ป่วยในกลุ่มนี้นั้น อาการป่วยก็อาจจะเกิดมาจากกล้ามเนื้อที่หนังตาผิดปกติมาแต่กำเนิด ซึ่งสามารถเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และอาจทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจ ที่เป็นโรคที่สืบเนื่องมาจากหนังตาตกอีกที กล่าวคือ เมื่อหนังตาตกลงมาบดบังการมองเห็นแล้ว ผู้ป่วยก็จะไม่ใช้ตาข้างนั้น ทำให้ตาข้างที่ตกลงมาไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
โดยหากมีการสงสัยว่าผู้ป่วยที่เป็นเด็กนั้น มีภาวะหนังตาตก หรือเป็นโรคตาขี้เกียจ ควรรีบมาพบจักษุแพทย์เพื่อดูอาการว่ารุนแรงและต้องได้รับการผ่าตัดหรือไม่ ในเด็กบางรายที่อาการยังไม่รุนแรงและยังไม่อยากให้มีการผ่าตัด อาจจะใช้เทปปิดหนังตาขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ตาข้างนั้น แต่ถ้าใช้เทปแล้วไม่ดีขึ้น หนังตายังตกลงมาปิดมากขึ้น จะทำให้เด็กมองเห็นพัฒนาได้ไม่เต็มที่ไม่ได้ใช้ตาข้างที่ตก ส่งผลให้ลูกตาเล็กและเขตามมาได้
2.กลุ่มที่เป็นภายหลัง
ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มนี้นั้นก็มีหลายสาเหตุ โดยแบ่งได้ดังนี้
-เกิดมาจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ หรือเกิดขึ้นภายหลังจากสาเหตุหลาย ๆ ประการ เช่น อุบัติเหตุบริเวณเปลือกตา, ภาวะเปลือกตาอักเสบ และกล้ามเนื้อเปลือกตาอ่อนแรง
-เกิดจากพฤติกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อตายืดหรือบาดเจ็บ เช่น ภูมิแพ้ทางตา ขยี้ตาบ่อย ใส่คอนแทคเลนส์ที่ความโค้งไม่เหมาะสม หรือแพ้คอนแทคเลนส์เนื่องจากทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ไม่ดี หรือการใส่คอนแทคเลนส์มานาน
-เกิดจากปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทเส้นที่ 3 หรือก้อนเนื้องอกทับเส้นประสาทตา ทำให้หนังตาตกหรืออ่อนแรง
-เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดดวงตาหรือทำศัลยกรรมรอบดวงตาที่ไปกระทบกล้ามเนื้อในการเปิดตา
-เกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้การยึดเกาะของกล้ามเนื้อตาเสื่อมลงและหลุดตามไปด้วย
อาการที่บ่งบอกว่าเป็น “ภาวะหนังตาตก”
-ชั้นตาที่เคยมี เริ่มมีการหลุด จนทำให้เปลือกตาบนลงมาต่ำมากกว่าปกติ ทำให้การมองเห็นลดลง มีชั้นตาหลายชั้น
-มีอาการแสบตา เคืองตา หรือรู้สึกหนัก ๆ ที่เปลือกตา
-หากส่องกระจกจะพบว่าดวงตาลืมได้ไม่เต็มตา และทำให้มองเห็นตาดำน้อยลง
วิธีการรักษา “ภาวะหนังตาตก”
-ใช้ยาตามอาการ
เช่น ตาแห้ง ก็ใช้น้ำตาเทียม โรคกล้ามเนื้อตาบางชนิดสามารถกินยาลดอาการได้
-รักษาด้วยการผ่าตัด
โดยเป็นการผ่าตัดเพื่อสร้างแรงกล้ามเนื้อที่เปลือกตา และทำให้ลืมตาได้มากขึ้น โดยทั่วไปแล้วหลังผ่าตัด 1 สัปดาห์จะต้องตัดไหม และรอประมาณ 2 สัปดาห์ถึงจะดีขึ้นประมาณ 70-80 เปอร์เซนต์ และชั้นตาจะดีขึ้นตามธรรมชาติใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน
แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังผ่าตัด ก็ต้องดูว่า การหลับตาและลืมตาดูสวยเป็นธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถผ่าตัดให้กลับมาเหมือนกันทั้ง 2 ข้างได้เนื่องจากต้องทำให้การลืมตาและหลับตาสมดุลกัน แต่แพทย์จะช่วยให้ตาดูมีรูปลักษณ์ที่ดีและใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุดนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
: โรงพยาบาลพญาไท