xs
xsm
sm
md
lg

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช แผลเล็ก หายเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พญ.เนตรนิภา พรหมนารท
“การผ่าตัดทางนรีเวช” เดิมเป็นการผ่าตัดเพื่อเปิดแผลบริเวณหน้าท้อง ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย และมีบาดแผลขนาดใหญ่ รวมถึงใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นนาน

พญ.เนตรนิภา พรหมนารท สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลหัวเฉียว ได้กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนาทั้งในด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์และเครื่องมือที่ทันสมัยมากมาย จนเกิดการผ่าตัดโดยใช้กล้องเข้ามาช่วยลดขนาดของแผล และเพิ่มความคมชัด แม่นยำในการผ่าตัด ซึ่งต่อเชื่อมกับเครื่องรับสัญญาณเพื่อแสดงผลที่หน้าจอภาพ ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะภายในช่องท้อง อุ้งเชิงกราน และควบคุมการผ่าตัดจากภายนอกช่องท้องได้ ผ่านทางเครื่องมือที่สอดผ่านแผลบริเวณหน้าท้องเข้าไป

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช มี 2 ประเภท ได้แก่ การผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้อง (Laparoscopy) คือ การใช้กล้องส่องเข้าไปดูอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เพื่อวินิจฉัย และทำการผ่าตัดโดยมีแผลเล็กๆ 2-4 แผล ขนาด 0.5-1.0 เซนติเมตร และ การผ่าตัดผ่านกล้องในโพรงมดลูก(Hysteroscopy) คือ การส่องกล้องในโพรงมดลูก โดยผ่านทางปากมดลูก เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติในโพรงมดลูก และสามารถทำการผ่าตัดโดยไม่ต้องเปิดแผลหน้าท้อง และผนังมดลูก เพื่อเข้าไปตัดเนื้องอกในโพรงมดลูก

โรคที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง ได้แก่ โรคที่ทำให้เกิดการปวดท้องเรื้อรัง, โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis), โรคเนื้องอกที่รังไข่และมดลูก, ท้องนอกมดลูก, การทำหมันแห้ง, การรักษาโรคที่มีบุตรยาก เช่น การตัดท่อนำไข่ที่ตันออกและต่อใหม่, การรักษาโรคของโพรงมดลูก เป็นต้น

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช มีดังนี้ มีแผลผ่าตัดขนาดเล็กแตกต่างจากการผ่าตัดด้วยวิธีเดิม ขนาดประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร, ผู้ป่วยจะเสียเลือดและปวดแผลน้อยกว่า เนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก, ผู้ป่วยใช้เวลาอยู่โรงพยาบาลเพียง 1 - 2 วัน และใช้ระยะเวลาพักฟื้นเพียง 1 - 2 สัปดาห์, แพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดของตำแหน่งที่จะทำการผ่าตัดได้ชัดเจน เนื่องจากเป็นการดูด้วยกล้องขยายกำลังสูงต่างจากการผ่าตัดแบบเดิมซึ่งเป็นการดูด้วยตาเปล่า, โอกาสเกิดพังผืดหลังการผ่าตัดน้อยกว่า, ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดและลดการติดเชื้อได้ดีกว่า

ข้อด้อยของการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช มีดังนี้ ไม่สามารถใช้การผ่าตัดชนิดนี้ได้กับผู้ป่วยทุกราย เช่น ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่เกิน 15 เซนติเมตรขึ้นไป อาจจะไม่สามารถใช้วิธีการผ่าชนิดนี้ได้, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น กระบังลมรั่ว โรคปอด หรือโรคหัวใจ, ผู้ป่วยที่มีพังผืดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานมากเกินไป และผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดช่องท้องมาหลายครั้ง เป็นต้น ประการสำคัญที่สุดคือ แพทย์ที่ทำผ่าตัดผ่านกล้องต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผ่าตัดผ่านกล้องที่ได้รับการอบรมและฝึกฝนมาอย่างดีเท่านั้น จึงสามารถทำผ่าตัดผ่านกล้องได้

บทความโดย พญ.เนตรนิภา พรหมนารท สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลหัวเฉียว
กำลังโหลดความคิดเห็น