ในการรับประทานอาหารนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญของแต่ละคน แน่นอนว่าจะต้องมีเรื่องของความเอร็ดอร่อย รสชาติของอาหาร และ ความอิ่มในแต่ละมื้อ เพื่อตอบโจทย์ให้กับแต่ละคนไป แต่ในขณะเดียวกันนั้น หากกินอาหารที่ไม่ถูกจุดในบางครั้ง “ภาวะกรดไหลย้อน” ก็อาจจะแวะมาทักทายได้แบบไม่ตั้งใจให้มา และส่งผลเสียต่อแต่ละคนที่ไม่ระวังตัวก็เป็นได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของ “ภาวะกรดไหลย้อน”
โดยคร่าว ๆ แล้ว จะมาจากความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกาย โดยจะแบ่งได้ดังนี้
-ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร
โดยอวัยวะส่วนนี้ จะทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร แต่หากเกิดอาการจะเกิดความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าคนปกติ ความผิดปกติที่ว่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
-ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร
ในส่วนตรงนี้ จะทำให้อาหารที่รับประทานลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
-ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร
ส่วนความผิดปกติแบบนี้ จะทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ จนทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น โดยอาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลตจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง
สำหรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้ด้วย ได้แก่
-เข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร
-การรับประทานอาหารปริมาณมากในหนึ่งมื้อ
-การสูบบุหรี่
-ดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์
-ภาวะความเครียด
ในขณะเดียวกัน โรคอื่นๆ หรือ สภาวะบางอย่าง ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดได้เช่นเดียวกัน คือ
-โรคอ้วน
ความอ้วนจะทำให้เพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหารและทำให้กรดไหลย้อนกลับ
-การตั้งครรภ์
เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลง รวมถึงมดลูกที่ขยายตัวจะเพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหารนั่นเอง
อาหารที่ก่อให้เกิด “ภาวะกรดไหลย้อน”
-อาหารไขมันสูง
เช่น อาหารทอดและมัน ช็อกโกแลต อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ นม เนย ชีส ไอศกรีม หรือไขมันจากเนื้อสัตว์ เป็นต้น
-อาหารที่มีแก๊สมาก
ได้แก่ น้ำอัดลม ชา กาแฟ โซดา เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด อาหารรสเผ็ดจัด หรือ ถั่ว เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้จะเข้าไปกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำย่อยมากยิ่งขึ้น
-น้ำส้มสายชู
น้ำส้มสายชูจัดเป็นเครื่องปรุงรสที่มีกรดมาก ดังนั้นผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนไม่ควรเติมลงในอาหาร เพราะจะเป็นการเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นไปอีก
-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารเปิดออก ทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหารได้ง่ายขึ้น
-ผลไม้ที่มีกรดมาก
เช่น ส้ม องุ่น มะนาว มะเขือเทศ สับปะรด หรือน้ำผลไม้รสเปรี้ยวจัด รวมไปถึงซอสมะเขือเทศก็ควรเลี่ยงด้วยเช่นกัน
-ผักที่มีกรดแก๊สมาก
ตัวอย่างคือ หอมหัวใหญ่ดิบ กระเทียม พริก พริกไทย หอมแดง เปปเปอร์มินต์ หรือสะระแหน่ รวมทั้งผักดิบทุกชนิดก็ควรเลี่ยง เพราะผักเหล่านี้จะไปเพิ่มกรดแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก
-อาหารหมักดอง
อย่างอาหารจำพวก ปลาร้า หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม กิมจิ หรือ ซูชิบางชนิดที่มีผักดอง ล้วนมีส่วนเพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดอาการจุดเสียดแน่นท้องได้
วิธีการรักษา และ ดูแลตนเองให้ห่างไกล “ภาวะกรดไหลย้อน สำหรับวิธีการรักษาภาวะกรดไหลย้อนนั้น โดยทั่วไป ทางแพทย์จะให้ทานยาลดการหลั่งของกรดเป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งจะมีโอกาสกลับมามีอาการได้อีก ดังนั้นการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จะให้ยาในกลุ่มเดิมเป็นระยะ ๆ ในช่วงเวลา 4-8 สัปดาห์หรือให้ยาตามอาการ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง ทางแพทย์ก็อาจจะพิจารณาการรักษาด้วยการส่องกล้องหรือการผ่าตัด
ส่วนการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากภาวะดังกล่าวนั้น ก็มีดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึง เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ และอาหารที่มีรสจัด
2. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้ร่างกายมีน้ำหนักที่เกินมาตราฐาน
3. ไม่ควรรับประทานอาหารแล้วเข้านอนทันที อาจจะทำการเดินหรือขยับร่างกายอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารย่อยนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลศิครินทร์ และ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์