xs
xsm
sm
md
lg

ทำยังไง ถ้า “สำลักอาหาร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ นอกจากสารอาหารที่เราได้รับแล้ว การบรรเทาความหิวและความสุขที่ได้มาก็จะตามไปด้วยเช่นเดียวกัน แต่หากการกินนั้นเกิดอุบัติเหตุอย่างไม่ตั้งใจ นั่นคือ ‘การสำลักอาหาร’ ล่ะ เราจะตั้งรับกับสิ่งนี้อย่างไรบ้าง มาเรียนรู้ไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ว่านี้ในทุก ๆ มื้อของอาหาร

สำหรับการสำลักอาหารนั้น คือภาวการณ์ที่มีเศษอาหาร หรือ น้ำ หลังกลืนอาหารหล่นเข้าไปอยู่ในหลอดลม ซึ่งทำให้เกิดอาการไอติดต่อกันหลายๆ ครั้ง เพื่อขับดันให้เศษอาหารนั้นหลุดออกไปจากหลอดลม

ซึ่งโดยปกติแล้ว กระบวนการกลืนอาหารนั้น จะเริ่มที่โคนลิ้นจะทำการผลักอาหารที่ทานเข้าไป ให้ไปอยู่ในคอหอย จากนั้น ฝาปิดกล่องเสียงจะเคลื่อนตัวลงมาปิดทางเข้าของกล่องเสียงรวมทั้งสายเสียงทั้ง 2 ข้างจะเคลื่อนตัวมาชิดกันเพื่อปิดทางเข้าของหลอดลม ทำให้อาหารที่กำลังจะเคลื่อนตัวผ่านลงไปในทางเข้าของหลอดอาหารนั้น ไม่สามารถหลุดเข้าไปในหลอดลมได้ จึงไม่เกิดภาวะสำลักอาหารนั่นเอง


แต่หากการเกิดภาวะสำลักอาหารนั้น อาจมีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้ คือ

1.เกิดในคนที่พูดในขณะรับประทานอาหาร หรือในขณะกลืนอาหารนั้น โดยเกิดจากฝาปิดกล่องเสียงและสายเสียงจะเปิดออกเพื่อให้เกิดเสียงพูด อาหารจึงตกลงไปในหลอดลมและเกิดการสำลักขึ้นได้

2.ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณคอหอย เช่น ผ่าตัดโคนลิ้น, มะเร็งคอหอย และมะเร็งกล่องเสียง จะทำให้การทำงานของอวัยวะเหล่านี้ทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จึงเกิดการสำลักขึ้น

3.ในผู้ป่วยที่สายเสียงเป็นอัมพาตขยับและทำงานไม่ได้ก็จะเกิดการสำลักอาหารและน้ำ รวมทั้งมีอาการเสียงแหบร่วมด้วย

4.ในผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงบริเวณลำคอ ซึ่งบางครั้งจะเกิดการบวมของเนื้อเยื่อในคอได้ และเกิดการสำลักอาหารได้เช่นกัน

5.ในผู้ป่วยที่ได้รับการดมยาสลบมีการใส่ท่อช่วยหายใจ บางครั้งจะทำให้สายเสียงบวมและทำงานผิดปกติไปได้ จึงเกิดภาวะเสียงแหบและการสำลักอาหารขึ้นได้


วิธีช่วยเหลือ “ภาวะสำลักอาหาร”

-หากเกิดเหตุในผู้ใหญ่ แนะนำให้ใช้วิธีของ Heimlich คือ แรกเริ่มขั้นตอน คือ ให้ทำในท่านั่งหรือยืนโน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย โดยให้ผู้ช่วยเหลือนั้น เข้ามาทางด้านหลัง

-จากนั้นก็ใช้แขนสอดสองข้างโอบผู้ป่วยไว้ มือซ้ายประคองมือขวาที่กำมือวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่

-ลำดับต่อมา คือดันกำมือขวาเข้าใต้ลิ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดแรงดันในช่องท้อง ดันเข้าใต้กระบังลมผ่านไปยังช่องทรวงอก เพื่อดันให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกจากกล่องเสียง

-ในกรณีที่เกิดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจใช้วิธีตบหลังหรือใช้ฝ่ามือวางลงบนทรวงอก แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดลงบริเวณใต้ลิ้นปี่


ข้อควรระวัง

-ในการช่วยเหลือผู้ป่วยวัยเด็กนั้น ไม่แนะนำให้ใช้นิ้วมือกวาดไปในลำคอเด็ก เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งที่มีการอุดกั้นมากขึ้น

-สำหรับในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังพอมีสติ หายใจเองได้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลมากกว่า เนื่องจากการช่วยเหลือจากที่ว่ามานั้น อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมได้


คำแนะนำในการรับประทานอาหาร

-เลือกชนิดและขนาดของอาหารที่เหมาะสมให้แก่เด็กวันต่างๆ เพื่อป้องกันการสำลักอาหาร และไม่ควรป้อนอาหารขณะที่เด็กกำลังวิ่งอยู่

-เลือกชนิด รูปร่าง และขนาดของของเล่นให้เหมาะสมกับวัยเด็ก รวมไปถึงจัดเก็บสิ่งของที่อันตราย ให้ห่างและปลอดภัยกับตัวเด็ก

-สำหรับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องฟันนั้น ต้องทำการปรึกษาทันตแพทย์เพื่อจัดฟันให้เหมาะสม แล้วเลือกทานอาหารที่ไม่ต้องเคี้ยวบดอย่างแรงมาก ให้เคี้ยวชิ้นอาหารที่พอเหมาะ และควรถอดฟันปลอมออกก่อนเข้านอนด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น