xs
xsm
sm
md
lg

ผลเสียของ “แสงยูวี” ที่มีต่อผิวหนัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แสงยูวี” เป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้มากนัก อาจจะเป็นเพราะว่า บางคนต้องทำงานในที่แจ้ง จึงได้รับผลกระทบในตรงนี้ไปเต็ม ๆ และแน่นอน ผลเสียต่อการได้รับแสงดังกล่าวนี้มากเกินไป ก็อาจจะส่งผลต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน


ผลกระทบของรังสีอัลตราไวโอเลตต่อร่างกาย


-ผิวคล้ำแดด

เมื่อผิวหนังได้สัมผัสกับรังสียูวี ร่างกายจะสร้างเม็ดสีเมลานินขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันผิวหนัง เลยทำให้ผิวมีสีคล้ำขึ้น เพราะรังสียูวีเอจะไปทำการกระตุ้นการสร้างเม็ดสีของเซลล์ผิวชั้นนอก ส่งผลให้ผิวคล้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะกลับมาเป็นสีปกติได้ในเวลาไม่นาน ส่วนรังสียูวีบีนั้นไม่ทำให้ผิวคล้ำขึ้นในทันที แต่อาจเกิดขึ้นหลังจากผ่านไปแล้วประมาณ 3 วัน และใช้เวลานานหลายสัปดาห์จึงกลับเป็นปกติ นอกจากนี้ รังสียูวีบียังส่งผลให้ผิวชั้นหนังกำพร้าหนาขึ้นอีกด้วย


-ผิวไหม้จากแดด

สำหรับเคสนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับรังสียูวีบีในปริมาณสูงจนทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกถูกทำลาย ผู้ที่มีอาการรุนแรง อาจจะทำให้ผิวหนังอาจลอก เป็นแผลพุพอง หรือรู้สึกเจ็บปวด อีกทั้งเซลล์ผิวหนังที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จะไวต่อรังสียูวีและบอบบางกว่าเซลล์ผิวเดิม

ส่วนผู้ที่อาการไม่รุนแรงจะมีเพียงผื่นแดงขึ้นบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดดและค่อย ๆ หายเป็นปกติใน 2-3 วัน ทั้งนี้ การมีผิวไหม้จากแดดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ด้วย

-เกิดริ้วรอย

ส่วนริ้วรอยบนผิวหนังนั้น จะเกิดจากรังสียูวีเอเดินทางทะลุผ่านผิวหนังชั้นนอกไปยังชั้นหนังแท้ และส่งผลต่อกระทบต่อโครงสร้างของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันได้ จนทำให้ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น เป็นต้นเหตุของริ้วรอยและความหย่อนคล้อย

-อาการแพ้แสงแดด

อาการแฟ้แสงแดดนั้น มักจะเกิดกับผู้ที่ผิวหนังมีความไวต่อรังสียูวี แม้ได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ก่อให้เกิดอาการแพ้คล้ายผิวไหม้ได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอาหารที่บริโภค เครื่องสำอาง หรือยาบางชนิด เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแก้ปวด ยาระงับประสาท ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน เป็นต้น ซึ่งควรมีการปรึกษาต่อแพทย์ทุกครั้ง


-มะเร็งผิวหนัง

มีงานวิจัยได้อ้างว่ารังสียูวี จะทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ในร่างกาย นอกจากนี้ รังสียูวีจะยังเข้าทำลายดีเอ็นเอของเซลล์ผิวหนังได้โดยตรง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้


วิธีการป้องกันจากรังสียูวี

-หลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วง 9.00-14.00 น.

เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีความเข้มของรังสียูวีมากและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งในช่วงเวลาดังกล่าว ควรทำการทาครีมกันแดดทุกครั้ง ทั้งนี้ การอยู่ในที่ร่ม เช่น ภายในอาคาร หอพัก ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะบริเวณใกล้หน้าต่างหรือพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง ไม่อาจช่วยป้องกันจากรังสียูวีได้เสมอไป จึงควรใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ทาครีมกันแดด สวมเสื้อแขนยาว เป็นต้น

-สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวผ้าทอที่รัดรูปและมีสีเข้ม

การสวมเสื้อในลักษณะดังกล่าวนั้น จะมีประสิทธิภาพในการปกป้องร่างกายจากรังสียูวีมากกว่าเสื้อและกางเกงที่โปร่งบางและมีสีอ่อน ซึ่งในปัจจุบันเสื้อผ้าบางยี่ห้อหันมาใช้สารเคลือบวัสดุสิ่งทอที่มีคุณสมบัติดูดซับรังสียูวี และจะระบุคุณสมบัติในการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตโดยใช้เลขตั้งแต่ 15 จนถึง 50+ ยิ่งตัวเลขมากเท่าไรก็ยิ่งแสดงถึงระดับการปกป้องที่มากตามไปด้วย

-สวมหมวก

ควรเลือกหมวกที่มีปีกกว้าง 2-3 นิ้ว หรือหมวกแก๊ปที่มีผ้าคลุมต้นคอ เพื่อป้องกันคอจากแสงแดด หากไม่มีอาจใช้ผ้าบางผืนใหญ่สวมไว้ใต้หมวกทดแทนได้

-แว่นกันแดด

การสวมแว่นกันแดด ควรเลือกแว่นที่มีเลนส์ขนาดใหญ่และมีคุณสมบัติป้องกันรังสียูวีเอและยูวีบีได้ 99-100 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเข้มของสีเลนส์นั้นไม่ได้บ่งบอกถึงคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวีแต่อย่างใด

-ร่ม

แม้ว่าร่มจะป้องกันรังสียูวีไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มีงานวิจัยกล่าวว่าการใช้ร่มกันแดดร่วมกับการทาครีมกันแดดช่วยป้องกันร่างกายจากรังสียูวีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ร่มเพียงอย่างเดียว

-ครีมกันแดด

คือผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากรังสียูวี โดยมีหลายรูปแบบให้เลือกทั้งชนิดครีม เจล แท่ง สเปรย์ ควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันรังสียูวีบี ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ทาในปริมาณที่เพียงพอและทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ครีมกันแดดอาจหลุดลอกและมีประสิทธิภาพลดลงได้หากผิวหนังสัมผัสน้ำ ดังนั้น การเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติกันน้ำอาจช่วยคงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีไว้ได้

-หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำผิวแทนและหลอดไฟแสงยูวี

รังสียูวีจากอุปกรณ์สร้างรังสียูวีนั้นก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ไม่ต่างจากรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ในปัจจุบันหลอดไฟแสงยูวียังถูกนำมาใช้งานในหลายด้าน เช่น การทำเล็บเจล ซึ่งแม้จะมีปริมาณรังสียูวีไม่มาก แต่ก็ควรป้องกันด้วยการทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนใช้อุปกรณ์เหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad.com


กำลังโหลดความคิดเห็น