แน่นอนว่าส่วนผสมของอาหารนั้น เป็นปัจจัยหลักในการรับประทานอาหาร เพื่อไปเสริมสร้างต่อร่างกาย ซึ่ง “โซเดียม” ก็เป็นอีกสารหนึ่งที่ถือว่าเป็นตัวหลักในอาหารเกือบทุกชนิดที่รับประทานไปในแต่ละวัน แต่ในขณะเดียวกัน หากรับประทานสารอาหารตัวนี้ที่มากเกินไป ก็อาจจะส่งผลต่อร่างกายได้เช่นกัน
“โซเดียม” คืออะไร
‘โซเดียม’ คือเกลือแร่ชนิดหนึ่ง ที่ถือว่ามีความสำคัญ เพราะมีผลต่อการควบคุมน้ำและของเหลวในร่างกาย ซึ่งสามารถควบคุมระบบความดันโลหิต การทำงานของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ ตลอดจนถึงการดูดซึมสารอาหารและเกลือแร่ในไตและลำไส้เล็ก
โดยแหล่งที่พบโซเดียมตามธรรมชาติ ได้แก่ เกลือ สัตว์น้ำมีเปลือก (กุ้ง ปู) สมอง ไต เนื้อตากแห้ง เบคอน แคร์รอต หัวบีต อาร์ทิโชก เป็นต้น ส่วนในรูปแบบอื่น ๆ จะพบได้ในรูปแบบของเกลือแกง อาหารสำเร็จรูป วัตถุปรุงรส ตลอดจนถึงขนมกรุบกรอบที่ใส่ผงฟูทุกชนิด
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ร่างกายของคนเราจะต้องการโซเดียมประมาณเฉลี่ย 1,500 มิลลิกรัม ต่อวัน แต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะมีการบริโภคโซเดียมที่มากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา
ประโยชน์ของ “โซเดียม”
-ช่วยให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างเป็นปกติ
-ช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลียจากความร้อนหรือลมแดดได้
-โซเดียมจะช่วยให้แคลเซียมและแร่ธาตุอื่น ๆ สามารถละลายในเลือดได้
โทษของ “โซเดียม” ต่อสุขภาพ
-หากโซเดียมในร่างกายสูง ก็จะทำให้เลือดข้น แล้วส่งผลให้มีการดึงน้ำจากในเซลล์ออกมาในกระแสเลือด และทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา
-ไตต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง และเกิดภาวะไตวายในอนาคตได้
-หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นกัน จึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
-โซเดียมจะทำให้ร่างกายบวม โดยเฉพาะตรงบริเวณ ใบหน้า มือ เท้า ขา เนื่องจากโซเดียมดึงน้ำออกมารอบ ๆ เซลล์
-ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ผิวเหี่ยวและแห้งกร้าน เพราะมีการดึงน้ำออกจากเซลล์ผิว ทำให้ผิวหนังเสียความชุ่มชื้น
วิธีที่ทำให้ห่างไกลจาก “โซเดียม”
1. หลีกเลี่ยงผงชูรสและผงปรุงรส เพราะถึงแม้จะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเกลือ แต่ผงชูรสไม่มีรสชาติเค็มเหมือนเกลือ จึงทำให้คนปรุงอาหารกระหน่ำใส่ลงไปโดยไม่ยั้งมือ เพราะเชื่อว่าจะช่วยชูรสอาหารให้ดีขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นสาเหตุให้ได้รับปริมาณโซเดียมที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
2. ลดความจัดจ้านของรสชาติอาหารในแต่ละรส เพราะอาหารยิ่งมีรสจัด ยิ่งต้องใส่เครื่องปรุงรสเค็มและผงชูรสมากขึ้นเพื่อให้อาหารครบรส ซึ่งหากชอบกินอาหารรสจัด ควรค่อย ๆ ลดความจัดลง หรือกินอาหารรสจัดสลับกันไป
3. รับประทานอาหารสด หลีกเลี่ยงอาหารที่เก็บไว้นาน เพราะมีโอกาสได้รับโซเดียมเพิ่มโดยไม่จำเป็นจากสารกันบูด
4. หลีกเลี่ยงการกินน้ำซุป หรือกินน้อยลง เพราะน้ำซุปมีปริมาณโซเดียมสูงมากจากเครื่องปรุงรสหรือซุปก้อน
5. สังเกตปริมาณโซเดียมจากฉลากโภชนาการ และแบ่งกินให้พอเหมาะ เพราะการรู้จักสังเกตฉลากนอกจากจะทำให้รู้ว่าเราได้รับพลังงานจากอาหารมากน้อยเพียงใด ยังบอกถึงปริมาณโซเดียมที่ได้รับอีกด้วย ซึ่งอาหารมื้อหลักไม่ควรให้โซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วน อาหารว่างไม่ควรมีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
6. ใช้เกลือทดแทนในการปรุงอาหารได้ แต่ก็อย่าวางใจปลอดโซเดียม เพราะเกลือทดแทนยังมีโซเดียมอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นให้ใส่แต่พอประมาณ
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล, medthai.com, hd.co.th และ โรงพยาบาลราชวิถี