ใครเคยประสบปัญหากับอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ บ้าง ซึ่งนั่นอาจหมายความว่าคุณกำลังเผชิญอยู่กับโรคผมร่วงเป็นหย่อมอยู่ก็เป็นได้ และแม้ว่าโรคนี้จะไม่ได้อันตรายร้ายแรงแต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้เหมือนกัน
โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายต่อมรากผมทำให้ผมร่วง ทั้งนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักเกิดกับผู้มีอายุน้อยกว่า 40 ปี แต่เฉลี่ยแล้วจะเกิดขึ้น 1 ใน 1000 คน หรือ ประมาณ 2%
โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้ เช่น ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้, ความผิดปกติทางพันธุกรรม, โรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง, โรคหอบหืด, โรคไทรอยด์, โรคด่างขาว, โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน, ความเครียด, ยาบางชนิด, การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น
ส่วนอาการที่พบคือ ผมร่วงจะมีลักษณะเป็นวงกลมเท่าเหรียญขนาดใหญ่ อาจคันหรือมีผื่นแดงขึ้นบริเวณที่ผมร่วงด้วย นอกจากนี้แล้วขนบริเวณส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอาจจะร่วงได้เช่นกัน เช่น ขนตา ขนคิ้ว หนวดเครา ขนรักแร้ ขนแขนขนขา เป็นต้น หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากจนผมร่วงหมดทั้งศีรษะ หรือเส้นขนตามร่างกายหลุดร่วงไปทั้งหมดด้วย นอกจากนี้อาจเกิดความผิดปกติที่เล็บได้ เช่น เล็บขรุขระ เล็บเปราะ หรือมีจุดแดงบริเวณโคนเล็บ เป็นต้น
ในผู้ป่วยบางรายที่มีผมร่วงไม่มาก อาการจะหายได้เองแต่มักจะใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี ซึ่งต่างจากผู้ป่วยที่ผมร่วงมากมักจะไม่หายเอง โรคนี้อาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ได้ ซึ่งการเป็นซ้ำอาจเกิดขึ้นเองหรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายได้รับการกระตุ้นจากการเจ็บป่วยอื่น ๆ หรือภาวะเครียดจากร่างกายและจิตใจ
ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นและทำให้ผมงอกกลับมาใหม่ให้เร็วที่สุด ทั้งนี้การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การฉีดยาเฉพาะที่, การทายาเฉพาะที่, การใช้ยาปลูกผม, การทำภูมิคุ้มกันบำบัด รวมไปถึงการกินยา แต่การกินยาก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูงมีผลข้างเคียงมาก
โดยผู้ป่วยควรดูแลตนเองและป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา และบุคคลทั่วไปสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงได้ดังนี้
-ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคได้
-พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
-ใส่วิก สวมหมวก หรือทาครีมกันแดดบริเวณหนังศีรษะที่เกิดอาการ เพื่อป้องกันแสงแดดทำอันตรายต่อหนังศีรษะ
-รับประทานอาหารที่มีสารบำรุงเส้นผม เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และธาตุสังกะสี เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากมีอาการดังกล่าวควรเข้ารับการวินิจฉัยอาการ ซึ่งการรักษาควรอยู่ในดุลยพินิจและความดูแลของแพทย์เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงตามมาได้
ข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก :
เว็บไซต์พบแพทย์ (https://shorturl.asia/WkAPb)
กรมการแพทย์ (https://www.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=32580)