หากใครที่มีอยู่ในภาวะของการตัวบวม หรือ ส่วนต่าง ๆ บวม นั้น หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นโรคอื่นหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้ว บางทีอาการดังกล่าวนี้ อาจจะเป็นภาวะของ ‘โปรตีนรั่ว’ หรือ 'เนโฟรติก' (Nephrotic Syndrome)
สำหรับอาการโปรตีนรั่ว หรือ เนโฟรติก คือความผิดปกติของไต ที่ยังมีการทำงานของไตที่ทำการกรองของเสียอยู่ เพียงแต่ว่ามีการรั่วไหลของโปรตีนในปัสสาวะมากเกินไป โดยผ่านการเกิดฟองในปัสสาวะที่มากเกินไป แถมยังมีอาการตัวบวมของร่างกาย ซึ่งถ้ามีอาการทั้งสองชนิดมารวมกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นอาการโปรตีนรั่วได้
โดยผู้ที่เป็นภาวะนี้ อาจจะมีสีปัสสาวะที่เข้มขึ้น ซึ่งคาดว่าจากภาวะน้ำในหลอดเลือดลดน้อยลง จนทำให้เกิดอาการดังกล่าว
สาเหตุของอาการโปรตีนรั่ว
โดยภาพรวมแล้ว ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่จะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
-การแทรกซ้อนจากตัวโรคเอง
สำหรับการแทรกซ้อนจากตัวโรคเองนั้น อาจเกิดจากการไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือเกิดในผู้ป่วยที่ขาดการรักษาไปเป็นเวลานาน โดยอาจทำให้ไตวายได้ในอนาคต หรืออาจมีภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากภาวะโปรตีนรั่ว ส่งผลให้เลือดมีความหนืดมากกว่าปกติ และมีโอกาสแข็งตัวในหลอดเลือดได้ง่าย
-การแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษา
ขณะที่การแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษา ก็คือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วดูแลในเรื่องของสุขลักษณะได้ไม่ดีพอ จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาเป็นยากดภูมิ หากติดเชื้อรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อน
- ทำให้ตัวบวมท้องบวม อวัยวะเพศบวม
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างผิดปกติ
- มีน้ำในช่องปอด ช่องท้อง
- ไขมันในเลือดสูง ระยะยาวหากไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามปกติ ก็มีผลต่อเส้นเลือดที่หัวใจได้
- เลือดข้นหนืด และเสี่ยงต่อเส้นเลือดอุดตัน
- อาจเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ง่ายและรุนแรง
- ความดันโลหิตต่ำ
- ปัสสาวะออกน้อย/ปัสสาวะไม่ออก/ไตวาย
โดยภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เหล่านี้ ถือว่าค่อนข้างอันตรายอย่างมาก ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเฝ้าติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นนั่นเอง
แนวทางการรักษา
สำหรับแนวทางในการรักษาภาวะดังกล่าวนั้น ทางแพทย์จะทำการใช้ยาลดการอักเสบ ประเภทกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยามาตรฐานชนิดแรกที่แพทย์จะเลือกใช้กับผู้ป่วย ซึ่งหากมีการตอบสนองต่อตัวโรคได้ดี ทางแพทย์จะค่อย ๆ ลดยากระทั่งหยุดให้ยา แต่ถ้าหากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี แพทย์ไม่สามารถหยุดให้ยาได้ จำเป็นต้องใช้ยากดภูมิอื่น ๆ ร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งถือว่าสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกที่คนไข้มีอาการบวมมาก เพราะถึงแม้จะมีการให้ยาจำเพาะสำหรับการรักษาโรค แต่คนไข้อาจไม่ตอบสนองทันที อาจต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป อาการบวมจึงจะยุบตัวลง ซึ่งในแง่ของการรักษาแบบประคับประคอง ประกอบด้วย การจำกัดอาหารรสเค็ม อาหารรสจัด อาหารที่ปรุงด้วยเกลือปริมาณมาก เนื่องจากเกลือจะทำให้ตัวบวมมากขึ้น ส่วนในแง่ของอาหารอื่น ๆ เช่น โปรตีน คนไข้ยังสามารถรับประทานได้ตามความเหมาะสมของช่วงอายุคนไข้ สำหรับเรื่องการกินยาต่อเนื่องนั้น ไม่ควรที่จะหยุดยาหรือเพิ่มยาเอง ซึ่งหากมีปัญหาต้องรีบติดต่อแพทย์ เพื่อวางแผนปรับยาโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็ควรดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารที่สุกสะอาดเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หรือปรุงด้วยเกลือปริมาณมาก เพราะจะทำให้ตัวบวม ทั้งยังกระตุ้นความดันโลหิตให้สูงขึ้นนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : ramachannel และ โรงพยาบาลสมิติเวช