xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายแค่ไหน? สารไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากมีข่าวว่ามีเด็กกินไส้กรอกแล้วทำให้เด็กมีภาวะเมทฮีโมโกลบิน หรือภาวะโรคเลือดอย่างหนึ่ง ที่เลือดจะมีปริมาณฮีโมโกลบินชนิดผิดปกติไม่สามารถจับออกซิเจนได้ ที่เรียกว่า “เมทฮีโมโกลบินในปริมาณสูงเกินปกติ” จนส่งผลให้เม็ดเลือดแดงขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ส่งผลให้เซลล์และอวัยวะทั่วร่างกายขาดออกซิเจนที่จำเป็น เพื่อการดำรงค์ชีวิตของทุกเซลล์ จนอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้

สารไนไตรท์ เป็นสารที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุเจือปนในอาหาร ในกลุ่มสารกันเสีย โดยนิยมใช้กับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมักที่ผ่านกรรมวิธี เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แหนม เป็นต้น
 
แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใส่สารประกอบไนไตรท์ เนื่องจากสารดังกล่าวจะช่วยยับยั้งการเน่าเสีย ทำให้มีสีแดงสวยน่ารับประทาน และสามารถช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะแบคทีเรีย คลอสตริเดียมโบทูลินัม (Clostridium botulinum) แบคทีเรียที่เป็นอันตรายกับร่างกายได้

แล้วร่างกายได้รับสารไนไตรท์แค่ไหนถึงปลอดภัย?


ถ้าได้รับสารไนไตรท์ ในปริมาณที่เกินค่าที่กำหนด อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก แต่หากได้รับสารไนไตรท์ ในปริมาณที่ไม่เกินค่าที่กำหนด ร่างกายสามารถขับสารออกมาได้ตามปกติ แต่อาจเป็นอันตรายกับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เพราะร่างกายของทารกอาจไม่สามารถขับสารเหล่านี้ออกจากร่างกายได้

โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดให้ใส่สารไนไตรท์ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป
ซึ่งหากมีปริมาณเกินที่กำหนดจะทำให้ได้รับไนไตรท์มากเกินไป ส่งผลให้ไนไตรท์จะไปจับกับเลือดทำให้ส่งออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง และทำให้มีอาการเจ็บป่วย ดังนี้

1.วิงเวียนหรือปวดศีรษะ
2.คลื่นไส้ อาเจียน
3.ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร
4.ท้องเสีย
5.เป็นโรคที่เกิดจากอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ เป็นต้น
6.กลไกการดูดซึมสารหรือการใช้สารอาหารในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป
7.มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต
8.เป็นภาวะเมทฮีโมโกลบินนีเมีย ทำให้มีอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก ตัวเขียว เป็นลม และหมดสติ ซึ่งอันตรายมากหากเกิดในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะซีด หรือผู้ที่เป็นโรคเลือด


วิธีหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีวัตถุกันเสีย


1.รับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่และไม่ผ่านการแปรรูป หรืออาจเลือกซื้ออาหารสดมาปรุงอาหารรับประทานเอง

2.เลือกซื้ออาหารที่มีฉลากบรรจุภัณฑ์ระบุรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น สถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายและเลขสารบบอาหารของ อย. เป็นต้น

3.เลือกผลิตภัณฑ์อาหารออแกนิค โดยเฉพาะอาหารที่มีการรับรองว่าปลอดสารกันเสีย หรือเลือกซื้ออาหารที่ใช้สารกันเสียที่ไม่เป็นอันตราย

4.หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารประเภทเดิมซ้ำ ๆ และรับประทานอาหารอย่างหลากหลาย เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมสารพิษในร่างกาย

5.หลีกเลี่ยงการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีสีสดเกินไป
 
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : พบแพทย์ POBPAD , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ข่าวโดย : สมาพร ตุ้มเพ็ชร 


กำลังโหลดความคิดเห็น