โรค SLE หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นโรคร้ายที่เป็นอัตรายต่อร่างกายอย่างมาก โรคนี้ยังต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานาน เคร่งครัด และต่อเนื่อง หากอาการที่กำเริบมีความรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะอาการบางคนอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนของโรค ลักษณะอาการป่วยโรคนี้จะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ของแต่ละอาการเป็นระยะ และความรุนแรงของโรคจะมีความแตกต่างกัน
โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันของคน ๆ นั้นทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเองจนเกิดการอักเสบและสามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับอวัยวะได้ทั่วร่างกาย ซึ่งพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในช่วงวัยเจริญพันธุ์
ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค
•เกิดจากการใช้ยา และสารเคมีต่าง ๆ หรือยาประเภทควบคุมความดันเลือด ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
•เกิดจากฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในบางครั้งจะส่งผลด้วย เช่น ช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงที่เติบโตในแต่ละวัย เป็นต้น
•การถ่ายทอดพันธุกรรม โรคหรืออาการบางชนิดที่เกิดในวงเครือญาติอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพุ่มพวงได้
•ปฏิกิริยาต่อแสงแดด สำหรับคนที่มีผิวหนังไวต่อแสงแดดจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากอาการแพ้ดังกล่าวได้
อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรค
อาการของโรคนี้จะแสดงความผิดปกติในร่างกายในหนึ่งอวัยวะหรือหลายอวัยวะ ที่พบได้บ่อยคือ
1.ปวดข้อ
2.เป็นไข้ตั้งแต่ไข้ต่ำ ๆ จนถึงไข้สูง
3.อ่อนเพลีย
4.เบื่ออาหาร
5.เกิดผื่นผิวหนังตามใบหน้า แขน ขา ที่อยู่บริเวณนอกเสื้อผ้า
6.ผมร่วง
7.มีสภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ ถ้าโรครุนแรงอาจมีเม็ดเลือดแดงแตก ปอดอักเสบ ไตอักเสบ
นอกจากอาการโรคเบื้องต้นแล้วยังมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้อีกด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อหัวใจและสมอง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง หรือความจำเสื่อม เป็นต้น และปัญหาทางโลหิต เช่น ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
และอาจมีผลกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ ได้ เช่น การอักเสบที่ไต ภาวะไตวาย ไปจนถึงเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เป็นได้ตั้งแต่อาการที่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากแล้วแต่บุคคล และปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย
ส่วนใหญ่แพทย์จะมีการวินิจฉัยจากประวัติของผู้ป่วย ตามด้วยการตรวจร่างกายว่ามีการพบรอยโรคร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือไม่ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ การตรวจเอกซเรย์หัวใจและปอด ฯลฯ
โรคนี้สามารถรักษาได้แต่ต้องใช้เวลานานพอสมควร โดยแพทย์จะพิจารณาการใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิเพื่อคุมโรค ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละคนจึงได้ยาแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรค อีกทั้งยังต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง และทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ร่วมกับการดูแลตนเอง ดังนี้
•อยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
•หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด
•พักผ่อนให้เพียงพอ
•พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
•กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ และกินยาให้ตรงเวลาตามที่แพทย์สั่ง
•มาตรวจหรือพบแพทย์ตามนัดอย่าให้ขาด เพราะการพบแพทย์และได้รับรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงประกอบจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ ( Bangkok Hospital ) , โรงพยาบาลเพชรเวช
ข่าวโดย : สมาพร ตุ้มเพ็ชร